ตำแยแมว

Acalypha indica L.

ชื่ออื่น ๆ
ตำแยตัวผู้ (กลาง); ลังตาไก่ (ตรัง); หานแมว (เหนือ)
ไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นตรง คล้ายทรงกระบอก มีร่องตามยาว มีขนสั้นนุ่ม ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปคล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ดอกแยกเพศร่วมช่อ ออกเป็นช่อเดี่ยว พบบ้างที่มีได้ถึง ๒ ช่อ ตามซอกใบตลอดถึงปลายยอด ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลด ดอกสีเขียวอ่อน ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุกที่ปลายช่อ ถัดลงมาเป็นดอกเพศเมีย ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ ผลแบบผลแห้งแยกแล้วแตก รูปทรงค่อนข้างกลม มี ๓ พู เมล็ดทรงรูปไข่ สีน้ำตาล มี ๑-๓ เมล็ด

ตำแยแมวเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว สูง ๑๕-๙๐ ซม. ลำต้นตรง คล้ายทรงกระบอก มีร่องตามยาว มีขนสั้นนุ่ม

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปคล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด กว้าง ๒-๗.๕ ซม. ยาว ๓-๗ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนรูปลิ่ม ขอบจักฟันเลื่อยแกมหยักมนถี่ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน มีขนสั้นนุ่มบนเส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๕ เส้น ก้านใบคล้ายทรงกระบอก ยาว ๒.๕-๘ ซม. มีขนสั้นนุ่ม หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว ๑-๒ มม. ตามขอบมีขนต่อม

 ดอกแยกเพศร่วมช่อ ออกเป็นช่อเดี่ยว พบบ้างที่มีได้ถึง ๒ ช่อ ตามซอกใบตลอดถึงปลายยอด ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลด ยาว ๒-๑๑ ซม. ดอกสีเขียวอ่อน ก้านดอกสั้นมาก ไร้กลีบดอก ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุกที่ปลายช่อ เป็นช่วงยาวลงมา ๐.๕-๑.๕ ซม. ถัดลงมาเป็นดอกเพศเมีย ในแต่ละช่อมีดอกเพศผู้ ๖-๑๐ ดอก


ใบประดับรูปขอบขนานแกมรูปไข่หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๐.๘-๑ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ดอกตูมรูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๓-๐.๗ มม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ด้านนอกมีต่อม มีขนประปราย เกสรเพศผู้ ๘ เกสร ดอกเพศเมียออกเดี่ยวที่ข้อ พบบ้างที่มีได้ถึง ๔ ดอก ใบประดับรูปถ้วย กว้าง ๐.๕-๑.๓ ซม. ยาว ๔-๙ มม. ขอบจักฟันเลื่อยห่าง ๆ ๘-๑๒ จัก ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ด้านในเกลี้ยง มีเส้นกลีบและจุดโปร่งแสง กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปไข่ กว้าง ๐.๓-๐.๕ มม. ยาว ๐.๗-๑.๕ มม. ด้านนอกมีขนต่อม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ มม. มีขนสั้นนุ่ม มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียยาว ๒-๓.๕ มม. แยกเป็นแฉก บางครั้งอาจพบดอกเพศเมียที่มีลักษณะแตกต่างจากดอกปรกติมีรูปคล้ายตัวที มี ๑ ดอกที่ปลายกิ่ง ก้านดอกยาว ๐.๕-๕ มม. กลีบเลี้ยง ๓-๔ กลีบ รูปใบหอกแกมรูปไข่ มีขนสั้นนุ่ม ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๑ ก้านติดที่โคนของรังไข่ ปลายก้านเป็นชายครุย รังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งแยกแล้วแตก รูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๒-๒.๘ มม. ยาว ๑.๘-๒.๒ มม. มีขนสั้นนุ่มและขนต่อม ผลมี ๓ พู เมื่อแก่แยกเป็น ๓ เสี้ยว แต่ละเสี้ยวแตกเป็น ๒ ซีก เมล็ดทรงรูปไข่ สีน้ำตาล กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑.๒-๑.๕ มม. มี ๑-๓ เมล็ด ส่วนผลที่เกิดจากดอกเพศเมียที่มีลักษณะแตกต่างจากดอกปรกติเป็นผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปทรงกลมแป้น กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๒-๓ มม. มีขนสั้นนุ่ม มีรอยเชื่อมตามยาวตรงกลางผล มีรยางค์รูปหลอดที่ปลาย กว้าง ๐.๘-๑ มม. ปลายเป็นชายครุย เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม มี ๑ เมล็ด

 ตำแยแมวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบเป็นวัชพืชทั่วไป ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา จีน ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย ญี่ปุ่น แอฟริกาเขตร้อน และเกาะกวม

 ประโยชน์ ใช้เป็นพืชสมุนไพร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตำแยแมว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Acalypha indica L.
ชื่อสกุล
Acalypha
คำระบุชนิด
indica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
ตำแยตัวผู้ (กลาง); ลังตาไก่ (ตรัง); หานแมว (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต