ตำเสา

Ternstroemia wallichiana (Griff.) Engl.

ชื่ออื่น ๆ
กระโอบ (ปราจีนบุรี); โกงกางป่า (ชลบุรี); แดงเขา, มังตาล (สุราษฏร์ธานี); ทังไข่ไก่ (สตูล); มะเขือขื่น
ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แตกกิ่งทางด้านข้าง เปลือกสีนวลถึงสีน้ำตาลอมเทา ค่อนข้างเรียบ กิ่งสีน้ำตาลแดง ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ที่ปลายกิ่ง คล้ายเป็นวงรอบข้อ รูปรีถึงรูปไข่กลับ ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ สีนวลหรือสีเหลืองอ่อน เป็นดอกสมบูรณ์เพศหรือเป็นดอกเพศผู้ ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ สุกสีส้มสดถึงสีแดง มีกลีบเลี้ยงสีน้ำตาลเข้มติดทนที่โคนผล เมื่อแก่จัดจะแตกออก เมล็ดขนาดใหญ่ มี ๒-๔ เมล็ด มีเยื่อหุ้มเมล็ดบางสีแดง

ตำเสาเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. แตกกิ่งทางด้านข้าง เปลือกสีนวลถึงสีน้ำตาลอมเทา ค่อนข้างเรียบ กิ่งสีน้ำตาลแดง ค่อนข้างเล็กเรียว

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ที่ปลายกิ่ง คล้ายเป็นวงรอบข้อ รูปรีถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๕-๖ ซม. ยาว ๗-๑๖ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลมสั้น โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง สีเขียวเข้มเป็นมันทางด้านบน เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบเห็นไม่ชัด ก้านใบเรียว ยาว ๑.๕-๒ ซม. อาจแผ่เป็นปีกเล็ก ๆ ที่ปลาย

 ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ สีนวลหรือสีเหลืองอ่อน เป็นดอกสมบูรณ์เพศหรือเป็นดอกเพศผู้ ก้านดอกยาว ๑.๔-๒.๕ ซม. มีใบประดับ ๒ ใบ ยาว ๓-๕ มม. ติดอยู่ที่ส่วนบนของก้านดอก ร่วงง่าย กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม รูปค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๔ มม. ยาว ๔-๕ มม. ติดทน กลีบดอก ๕ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม รูปไข่กลับหรือรูปกลม กว้างและยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายมนกลม อาจพบบ้างที่ปลายแหลม ดอกเพศผู้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๒.๕ ซม. กลีบดอกบานแผ่ออก เกสรเพศผู้จำนวนมาก โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันแน่นเป็นกระจุกอยู่ตรงกลางดอก ไม่มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ดอกสมบูรณ์เพศมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๔-๒ ซม. กลีบดอกโค้งเว้า เกสรเพศผู้เหมือนในดอกเพศผู้ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๓-๔ ซม. สุกสีส้มสดถึงสีแดง มีกลีบเลี้ยงสีน้ำตาลเข้มติดทนที่โคนผล เมื่อแก่จัดจะแตกออก เมล็ดขนาดใหญ่ มี ๒-๔ เมล็ด มีเยื่อหุ้มเมล็ดบางสีแดง

 ตำเสามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบในป่าดิบที่สมบูรณ์หรือในที่ค่อนข้างโล่ง ตามชายป่าดิบหรือตามริมลำธารที่มีหิน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่บังกลาเทศ เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม คาบสมุทรมาเลเซีย และอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตำเสา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ternstroemia wallichiana (Griff.) Engl.
ชื่อสกุล
Ternstroemia
คำระบุชนิด
wallichiana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Griffith, William
- Engler, Heinrich Gustav Adolf
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Griffith, William (1810-1845)
- Engler, Heinrich Gustav Adolf (1844-1930)
ชื่ออื่น ๆ
กระโอบ (ปราจีนบุรี); โกงกางป่า (ชลบุรี); แดงเขา, มังตาล (สุราษฏร์ธานี); ทังไข่ไก่ (สตูล); มะเขือขื่น
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต