ตำยาน

Liquidambar siamensis (Craib) Ickert-Bond et J. Wen

ชื่ออื่น ๆ
ปรก, ยาน (ชัยภูมิ)
ไม้ต้นขนาดใหญ่ เปลือกสีเทาอมชมพู เมื่อแก่จัดหลุดลอกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่แกมรูปใบหอก รูปไข่กลับ หรือรูปใบหอก ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ สีเขียวอ่อน ช่อดอกเพศผู้คล้ายช่อกระจุกแน่นหรือคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ช่อดอกเพศเมียคล้ายช่อกระจุกแน่น ค่อนข้างกลมมักออกเป็นช่อเดี่ยว ตามซอกใบ ผลแบบผลแห้งแตก เปลือกแข็ง อยู่ชิดกันบนแกนกลางช่อผล ช่อผลส่วนมากมีรูปทรงค่อนข้างกลม ก้านช่อผลยาว แต่ละผลมีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดค่อนข้างแบน บาง รูปขอบขนาน มีจำนวนมาก

ตำยานเป็นไม้ต้นสูงได้ถึง ๓๐ ม. ลำต้นรูปทรงกระบอก เปลือกสีเทาอมชมพู เมื่อแก่จัดหลุดลอกเป็นชิ้นเล็ก ๆ กิ่งอ่อนค่อนข้างเกลี้ยง กิ่งแก่มีช่องอากาศกระจายอยู่ทั่วไป ตายอดรูปไข่ ยาว ๓-๖ มม. เกล็ดหุ้มตาชั้นในมีขนสีน้ำตาล

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่แกมรูปใบหอก รูปไข่กลับ หรือรูปใบหอก กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๕-๘ ซม. พบบ้างที่ยาวได้ถึง ๑๒ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือเรียวแหลมคล้ายหาง โคนมนหรือสอบ ขอบจักมน เป็นคลื่น หรือค่อนข้างเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบเห็นชัดทางด้านล่าง ใบเมื่อแก่มีสีแดง ก้านใบยาว ๑-๕ ซม. พบบ้างที่ยาวได้ถึง ๘ ซม. เกลี้ยง หูใบเรียว ยาว ๓-๔ มม. ร่วงง่าย

 ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ สีเขียวอ่อน ช่อดอกเพศผู้คล้ายช่อกระจุกแน่นหรือคล้ายช่อกระจุกแน่นแยกแขนง แต่ละช่อดอกรูปไข่หรือค่อนข้างกลม ออกที่ยอดหรือใกล้ยอด ดอกเพศผู้มีใบประดับย่อยรูปไข่โค้ง ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก เกสรเพศผู้ ๑ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูทรงรูปไข่ขนาดเล็ก ช่อดอกเพศเมียคล้ายช่อกระจุกแน่น ค่อนข้างกลม มักออกเป็นช่อเดี่ยว ตามซอกใบ ก้านช่อยาว ๑-๒ ซม. เมื่ออ่อนมีขนนุ่มสีน้ำตาล ดอกเพศเมียเรียงรอบแกนกลางช่อ มี ๖-๑๐ ดอก อาจพบได้ถึง ๑๕ ดอก มีใบประดับย่อยรูปไข่โค้งคล้ายรูปถ้วย แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยงคล้ายเกล็ด ไร้กลีบดอก รังไข่อยู่กึ่งใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นอวบ ปลายแยกเป็นแฉก ยาว ๒ แฉก ยอดเกสรเพศเมียแบน

 ผลแบบผลแห้งแตก เปลือกแข็ง อยู่ชิดกันบนแกนกลางช่อผล ส่วนมากมีรูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๑.๑-๒.๒ ซม. ยาว ๐.๘-๑.๓ ซม. ก้านช่อผลยาว ๒-๔ ซม. แต่ละผลมีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดค่อนข้างแบน บาง รูปขอบขนาน กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๔-๗ มม. มีจำนวนมาก

 ตำยานมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง พบตามที่ชื้นหรือใกล้แหล่งน้ำ ลำธาร และป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ ๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีนและภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตำยาน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Liquidambar siamensis (Craib) Ickert-Bond et J. Wen
ชื่อสกุล
Liquidambar
คำระบุชนิด
siamensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
- Ickert-Bond, Stefanie M.
- Wen, Jun
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant (1882-1933)
- Ickert-Bond, Stefanie M. (fl. 2013)
- Wen, Jun (1963-)
ชื่ออื่น ๆ
ปรก, ยาน (ชัยภูมิ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์