ตาไก่เบตง

Ardisia betongensis H. R. Fletcher

ไม้ต้น กิ่งแขนงมักมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มหรือช่อเชิงหลั่น ออกตามซอกใบ ดอกสีขาว ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

ตาไก่เบตงเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๒ ม. กิ่งแขนงมักมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๔.๕ ซม. ยาว ๗-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนเกลี้ยง สีเขียวเป็นมัน ด้านล่างมีเกล็ดเล็ก ๆ จำนวนมากกระจายทั่วไป เส้นแขนงใบจำนวนมากเรียงถี่ค่อนข้างขนานกัน เส้นใบย่อยเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ปลายเส้นโค้งจดกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขน

 ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มหรือช่อเชิงหลั่น ออกตามซอกใบ มีขน ก้านช่อสั้น แกนกลางช่อยาว ๐.๑-๑.๕ ซม. ก้านดอกยาว ๐.๗-๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๒ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายมน ด้านนอกมีขนและมีต่อมเล็ก ๆ จำนวนมาก เห็นไม่ชัด มีขนสั้น กลีบดอกสีขาว ยาวประมาณ ๓.๕ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นมาก ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ กว้าง ๒-๒.๕ มม. ปลายมน ด้านนอกมีต่อมเล็กสีน้ำตาลประปรายใกล้ปลายแฉก เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่หลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูรูปไข่ ยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ มีขน มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๒ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็กแหลม

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมเมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 ตาไก่เบตงเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาไก่เบตง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ardisia betongensis H. R. Fletcher
ชื่อสกุล
Ardisia
คำระบุชนิด
betongensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Fletcher, Harold Roy
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1907-1978)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์