ตาไก่สังขละ

Ardisia confusa K. Larsen et C. M. Hu

ไม้ต้นขนาดเล็ก ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปรี ใบค่อนข้างยาวมาก ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มเชิงประกอบออกตามปลายกิ่ง ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม ผิวมีต่อมเป็นจุดหรือขีดประสีค่อนข้างดำกระจายทั่วไป เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

ตาไก่สังขละเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก กิ่งแขนงรูปทรงกระบอก เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปรี กว้าง ๓.๕-๖.๕ ซม. ยาว ๑๖-๒๗ ซม. ส่วนมากยาวมากกว่า ๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือเป็นหาง โคนรูปลิ่ม ขอบหยักตื้นห่าง ๆ มีต่อมเล็กตามหยักขอบใบ เห็นไม่ชัดแผ่นใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง มีต่อมขนาดเล็กสีส้มจำนวนมากอยู่ทั่วไป เส้นแขนงใบข้างละ ๑๕-๒๐ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกันใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๒-๓ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่ง ค่อนข้างเกลี้ยง ก้านช่อยาว ๒-๔ มม. ก้านช่อย่อยยาว ๐.๕-๒ ซม. ก้านดอกยาวประมาณ ๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๑.๘ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ กว้างประมาณ ๑.๘ มม. ปลายมน มีต่อมเล็ก ๆ สีน้ำตาลกระจายทั่วไป มีขนครุยสั้นกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นมาก ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ ผิวมีต่อมเล็ก ๆ กระจายทั่วไป เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่หลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นอับเรณูรูปใบหอกแกมรูปสามเหลี่ยม ด้านหลังมีต่อมใสขนาดเล็ก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยง มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนน้อย

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖ มม. ผิวมีต่อมเป็นจุดหรือขีดประสีค่อนข้างดำกระจายทั่วไป เมล็ดรูปคล้ายผลมี ๑ เมล็ด

 ตาไก่สังขละเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๑,๗๐๐ ม. เป็นผลเดือนสิงหาคม

 เนื่องจากยังไม่พบตัวอย่างที่มีดอก มีเพียงตัวอย่างเดียวที่เก็บจากอำเภอสังขละบุรี และไม่มีข้อมูลจากเอกสารที่เผยแพร่การตั้งชื่อชนิดใหม่นี้ ลักษณะดอกจึงบรรยายตามลักษณะสกุล.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาไก่สังขละ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ardisia confusa K. Larsen et C. M. Hu
ชื่อสกุล
Ardisia
คำระบุชนิด
confusa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Larsen, Kai
- Hu, Chi Ming
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Larsen, Kai (1926-2012)
- Hu, Chi Ming (1935-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์