ตาไก่ท่าสาร

Ardisia congesta Ridl.

ไม้พุ่ม กิ่งแขนงมักแบน มักมีต่อมขนาดเล็กสีดำ ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปรีหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบ ดอกสีชมพู ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมเมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด


ตาไก่ท่าสารเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๑.๒ ม. กิ่งแขนงมักแบน มักมีต่อมขนาดเล็กสีดำ กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปรีหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๕-๖.๕ ซม. ยาว ๗-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียวหม่น ด้านล่างสีจางกว่า มีต่อมเล็กสีดำจำนวนมากกระจายทั่วไป เส้นแขนงใบข้างละ ๒๐-๒๔ เส้น เส้นใบย่อยเห็นเด่นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขน

 ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบ ก้านช่อสั้นมาก ก้านดอกยาว ๑-๕ มม. มีขนประปราย กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๑.๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ ปลายมน ผิวทั้ง ๒ ด้านมีต่อมเล็ก ๆ จำนวนมาก กลีบดอกสีชมพู ยาวประมาณ ๖ มม. โคน



มักเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอก กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายมน ผิวมีต่อมเล็ก ๆ ประปรายเกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่หลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูรูปใบหอก ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายแหลม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๔ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็กแหลม

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมเมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 ตาไก่ท่าสารเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบในป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาไก่ท่าสาร
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ardisia congesta Ridl.
ชื่อสกุล
Ardisia
คำระบุชนิด
congesta
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Ridley, Henry Nicholas
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1855-1956)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์