ตาไก่กระบุรี

Ardisia bractescens Ridl.

ไม้พุ่ม ยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงหรือสีน้ำตาลค่อนข้างคล้ำ ใบเดี่ยว เรียงเวียน มักพบอยู่ตามปลายกิ่งรูปรี ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงหรือช่อซี่ร่ม ช่อย่อยมี ๒-๓ ดอก ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีชมพูผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

ตาไก่กระบุรีเป็นไม้พุ่ม สูง ๐.๓-๑ ม. ยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงหรือสีน้ำตาลค่อนข้างคล้ำ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน มักพบอยู่ตามปลายกิ่ง รูปรี กว้าง ๓-๓.๕ ซม. ยาว ๙-๑๘ ซม. ปลายเรียวแหลมโคนรูปลิ่ม ขอบหยักมน มักมีต่อมอยู่ตามขอบใบ แผ่นใบค่อนข้างบางหรือหนา ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนหรือค่อนข้างเกลี้ยง มีต่อมสีดำขนาดเล็กจำนวนมากกระจายทั่วไป เห็นเด่นชัดในใบอ่อน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๒ เส้น ปลายเส้นมักโค้งจดต่อมที่อยู่ตามขอบใบ ก้านใบยาว ๐.๖-๑ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงหรือช่อซี่ร่ม ช่อย่อยมี ๒-๓ ดอก ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ก้านช่อสั้นยาว ๑-๑.๕ ซม. ก้านดอกยาว ๐.๗-๑.๒ ซม. ก้านช่อและก้านดอกมีขนสั้น ๆ สีดำ กลีบเลี้ยงยาว ๔-๕ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอกแกมรูปแถบ กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ปลายมน ด้านนอกมีขนและมีต่อมขนาดเล็กสีดำกระจายทั่วไป กลีบดอกสีชมพูยาวประมาณ ๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นมากปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปรี กว้างประมาณ ๓ มม. ปลายมน ผิวมีต่อมขนาดเล็ก เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่หลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูด้านหลังมีต่อมเล็ก ๆ สีดำ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๓ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็กแหลม

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมเมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 ตาไก่กระบุรีเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนเมษายนถึงมิถุนายน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาไก่กระบุรี
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ardisia bractescens Ridl.
ชื่อสกุล
Ardisia
คำระบุชนิด
bractescens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Ridley, Henry Nicholas
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1855-1956)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์