ตาเหินสยาม

Hedychium bousigonianum Pierre ex Gagnep.

ชื่ออื่น ๆ
ตาเหินช่อกระบอก, ปุดนาคา (ใต้)
ไม้ล้มลุกหลายปี อิงอาศัยหรือขึ้นบนหิน มักพบแตกกอค่อนข้างแน่น เหง้าค่อนข้างหนาและอวบ ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือเหง้า ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว มี ๖-๙ ใบ รูปใบหอกแกมรูปรี ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ปลายลำต้นเทียม ตั้งขึ้น รูปทรงกระบอกแคบ แต่ละซอกใบประดับมี ๑ ดอก ดอกสีขาวนวลถึงสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ผลแบบผลแห้งแตก รูปกระสวยถึงทรงรูปไข่กว้าง สีเขียวอมเหลือง มีใบประดับ ใบประดับย่อย และกลีบเลี้ยงขยายใหญ่ ติดทน เมล็ดรูปกระสวย มีจำนวนมาก มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงเข้ม

ตาเหินสยามเป็นไม้ล้มลุกหลายปี อิงอาศัยหรือขึ้นบนหิน มักพบแตกกอค่อนข้างแน่น เหง้าค่อนข้างหนาและอวบ ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือเหง้า สูง ๔๐-๘๐ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว มี ๖-๙ ใบ รูปใบหอกแกมรูปรี กว้าง ๙-๑๐.๕ ซม. ยาว ๒๐-๒๘ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ค่อนข้างเกลี้ยง เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงขนานกัน เห็นไม่ชัด ก้านใบต่อจากโคนใบเห็นไม่ชัด ลิ้นใบสีเขียว ส่วนครึ่งปลายมักเป็นสีน้ำตาลอมแดง รูปขอบขนาน กว้าง ๒-๒.๘ ซม. ยาว ๕.๕-๖.๕ ซม. ปลายค่อนข้างแหลม เกลี้ยง เป็นเยื่อค่อนข้างบางและโปร่งแสง กาบใบสีเขียว ค่อนข้างหนา ฉ่ำน้ำ มี ๑-๒ กาบที่อยู่ใกล้โคนลำต้นเทียมไม่มีแผ่นใบ กาบที่อยู่เหนือขึ้นไปยาวได้ถึง ๘๐ ซม. เรียงสลับโอบซ้อนกันแน่น

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ปลายลำต้นเทียม ตั้งขึ้น รูปทรงกระบอกแคบ ยาวประมาณ ๑๕ ซม. ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๕.๕ ซม. มีใบประดับ ๘-๑๓ ใบ แต่ละซอกใบประดับมี ๑ ดอก ใบประดับที่โคนก้านช่อหนาคล้ายแผ่นหนัง รูปไม่แน่นอน สีเขียว ขอบสีน้ำตาลแดง รูปไข่กว้าง กว้าง ๓.๗-๔ ซม. ยาว ๕-๕.๕ ซม. ปลายมนหรือแหลม มีขนสั้นกระจายห่าง ใบประดับย่อยสีเขียว ยาวประมาณ ๕.๒ ซม. ม้วนเป็นหลอด ปลายแหลม ดอกสีขาวนวลถึงสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ก้านดอกยาวประมาณ ๒ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๔.๕ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกด้านเดียว ปลายสุดหยักซี่ฟัน ๒-๓ หยัก มีขนสั้นกระจายห่าง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑๐ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แต่ละแฉกรูปแถบแคบ กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๔.๕-๕.๕ ซม. ปลายคุ่ม เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ที่สมบูรณ์มี ๑ เกสร อับเรณูสีเหลืองนวลอมเขียว ยาวประมาณ ๑ ซม. ก้านชูอับเรณูยาว ๔.๕-๕.๕ ซม. เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๕ เกสรเป็นหมันและเปลี่ยนรูปคล้ายกลีบดอก มี ๓ เกสรที่อยู่ตรงกลางเชื่อมติดกันและเปลี่ยนเป็นกลีบปาก สีขาว โคนกลีบสีเหลือง เมื่อใกล้ร่วงเปลี่ยนเป็นสีเหลือง รูปหัวใจ กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาว ๓-๓.๔ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกลึก อีก ๒ เกสรอยู่ข้างกลีบปากข้างละ ๑ เกสร แยกอิสระเป็นกลีบคู่ข้าง รูปใบหอกกลับแคบ คล้ายมีก้านกลีบ กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๓.๕-๔.๕ ซม. ปลายเว้าตื้น รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๕ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียที่สมบูรณ์มี ๑ ก้านรูปคล้ายเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียคล้ายรูปถ้วย ขอบมีขน ก้านยอดเกสรเพศเมียที่ไม่สมบูรณ์อีก ๒ ก้านลดรูปเป็นติ่ง ขนาดประมาณ ๓ มม. ติดอยู่เหนือรังไข่

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกระสวยถึงทรงรูปไข่กว้าง กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๓-๔.๕ ซม. สีเขียวอมเหลือง มีใบประดับ ใบประดับย่อย และกลีบเลี้ยงขยายใหญ่ ติดทน เมล็ดรูปกระสวย มีจำนวนมาก มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงเข้ม

 ตาเหินสยามเป็นพืชหายากของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบอิงอาศัยบนต้นไม้ ตามป่าโปร่งที่มีความชื้นสูง ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๘๐๐-๑,๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนตุลาคมถึงธันวาคม เป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาเหินสยาม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hedychium bousigonianum Pierre ex Gagnep.
ชื่อสกุล
Hedychium
คำระบุชนิด
bousigonianum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Pierre, Jean Baptiste Louis
- Gagnepain, FranÇois
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Pierre, Jean Baptiste Louis (1833-1905)
- Gagnepain, FranÇois (1866-1952)
ชื่ออื่น ๆ
ตาเหินช่อกระบอก, ปุดนาคา (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ