ตาเหินดอย

Hedychium spicatum Buch.-Ham ex Sm.

ไม้ล้มลุกหลายปี อิงอาศัยหรือขึ้นบนหิน มักพบแตกกอห่าง มีลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าค่อนข้างหนาและฉ่ำน้ำ มีกลิ่นหอมอ่อน ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือเหง้า ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรีแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ปลายลำต้นเทียม ตั้งขึ้น รูปคล้ายทรงกระบอก แต่ละซอกใบประดับมี ๑ ดอก ทยอยบานไปสู่ปลายช่อ ดอกสีขาวถึงสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี มีใบประดับ ใบประดับย่อย และกลีบเลี้ยงขยายใหญ่ ติดทน เมล็ดรูปกระสวยถึงรูปทรงกลม มีจำนวนมาก มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงอมส้ม

ตาเหินดอยเป็นไม้ล้มลุกหลายปี อิงอาศัยหรือขึ้นบนหิน มักพบแตกกอห่าง มีลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าค่อนข้างหนาและฉ่ำน้ำ มีกลิ่นหอมอ่อน ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือเหง้า สูง ๐.๕-๑.๗ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๙-๑๓ ซม. ยาว ๒๕-๔๗ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างเกลี้ยงหรือมีขนห่าง เส้นกลางใบเป็นร่องตื้นทางด้านบน ส่วนใกล้โคนเป็นร่องลึกไปถึงก้านใบ นูนชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงค่อนข้างขนานกัน ก้านใบสั้น ลิ้นใบเป็นเยื่อค่อนข้างบางและโปร่งแสง รูปขอบขนาน กว้าง ๒-๒.๘ ซม. ยาว ๑-๒.๕ ซม. ปลายตัดหรือค่อนข้างแหลม มีขนห่าง กาบใบค่อนข้างหนาและอวบน้ำ มี ๒-๔ กาบที่อยู่ใกล้โคนลำต้นเทียมไม่มีแผ่นใบ กาบที่อยู่เหนือขึ้นไปยาวได้ถึง ๑.๗ ม. เรียงสลับโอบซ้อนกันแน่น

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ปลายลำต้นเทียม ตั้งขึ้น คล้ายรูปทรงกระบอก ยาว ๒๐-๓๕ ซม. ก้านช่อดอกรูปทรงกระบอก ยาว ๖.๕-๑๒ ซม. เกลี้ยง ใบประดับที่โคนก้านช่อหนาคล้ายแผ่นหนัง รูปคล้ายใบ ถัดขึ้นไปมีใบประดับจำนวนมากเรียงห่างกัน สีเขียว รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๒.๔-๔.๖ ซม. ม้วนเป็นหลอด ปลายแหลม เกลี้ยงหรือมีขนประปราย ใบประดับย่อยเป็นเยื่อบาง รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๑.๕-๓ ซม. ม้วนเป็นหลอด ปลายแหลม เกลี้ยงหรือมีขนประปราย แต่ละซอกใบประดับมี ๑ ดอก ทยอยบานไปสู่ปลายช่อ ดอกสีขาวถึงสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๓-๕ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกด้านเดียว ปลายสุดแหลมหรือเป็นหยักซี่ฟัน ๓ หยัก เกลี้ยงหรือมีขนสั้นกระจายห่าง กลีบดอกสีเหลือง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๕.๒-๘ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แต่ละแฉกรูปแถบ กว้าง ๓-๖ มม. ยาว ๓.๕-๔.๘ ซม. ปลายคุ่ม เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ที่สมบูรณ์มี ๑ เกสร อับเรณูสีเหลือง กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๑.๒-๑.๘ ซม. ก้านชูอับเรณูสีส้มอมแดง ยาว ๒-๒.๕ ซม. เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๕ เกสรเป็นหมันและเปลี่ยนรูปคล้ายกลีบดอก มี ๓ เกสรที่อยู่ตรงกลางเชื่อมติดกันและเปลี่ยนเป็นกลีบปาก สีขาวนวลแกมสีส้มอมแดง รูปไข่กลับ กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๕-๖ ซม. ปลายแยกเป็นแฉก โคนเรียวแคบ ยาว ๓-๔ มม. ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น อีก ๒ เกสรอยู่ข้างกลีบปากข้างละ ๑ เกสร แยกอิสระเป็นกลีบคู่ข้าง รูปใบหอกกลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๗ มม. ยาว ๔.๕-๖ ซม. โคนกลีบเรียวแคบ ๒-๓ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงกระบอกสั้น กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๔-๕ มม. มีขนหนาแน่น มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๓ ก้าน ที่สมบูรณ์มี ๑ ก้านรูปคล้ายเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียคล้ายรูปถ้วย สีเขียว ขอบมีขน ก้านยอดเกสรเพศเมียที่ไม่สมบูรณ์อีก ๒ ก้านลดรูปเป็นติ่ง ยาวประมาณ ๒ มม. ติดอยู่เหนือรังไข่

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๑.๘-๓ ซม. สีเขียวอมเหลือง มีขนกระจาย มีใบประดับ ใบประดับย่อย และกลีบเลี้ยงขยายใหญ่ ติดทน เมล็ดรูปกระสวยถึงรูปทรงกลม มีจำนวนมาก กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๔-๕ มม. มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงอมส้ม

 ตาเหินดอยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบอิงอาศัยบนต้นไม้หรือขึ้นบนซอกหินปูน ตามป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๘๐๐-๒,๑๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่เนปาล ภูฏาน อินเดีย จีน และเมียนมา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาเหินดอย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hedychium spicatum Buch.-Ham ex Sm.
ชื่อสกุล
Hedychium
คำระบุชนิด
spicatum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Buchanan-Hamilton, Francis
- Smith, James Edward
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Buchanan-Hamilton, Francis (1762-1829)
- Smith, James Edward (1759-1828)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ