ตาเสือใต้

Aphanamixis sumatrana (Miq.) Harms

ชื่ออื่น ๆ
ตาเสือเล็ก (ใต้)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก โคนต้นมักเป็นพูพอนต่ำ เปลือกนอกสีน้ำตาล มีช่องอากาศประปราย แตกเป็นร่องและเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ มักมีน้ำยางซึมออกมา ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๗-๑๓ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปรีหรือรูปขอบขนานถึงรูปใบหอกกลับ โคนก้านใบขยายกว้างโอบส่วนของลำต้นหรือกิ่ง ดอกแยกเพศและดอกสมบูรณ์เพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ ช่อดอกเพศเมียยาวกว่าช่อดอกเพศผู้ ดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีชมพูเรื่อ ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงกลม ผลแก่จัดเปลือกด้านนอกสีชมพูหรือสีแดง เกลี้ยง ด้านในสีขาว เมล็ดสีน้ำตาล มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาว มี ๑-๓ เมล็ด

ตาเสือใต้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๒-๖ ม. เส้นรอบวง ๒๐-๔๐ ซม. โคนต้นมักเป็นพูพอนต่ำ เปลือกนอกสีน้ำตาล มีช่องอากาศประปราย แตกเป็นร่องและเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ เปลือกในสีชมพูอ่อน มักมีน้ำยางซึมออกมา กระพี้สีขาว แก่นสีออกชมพู

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๐.๕-๑.๑ ม. มีใบย่อย ๗-๑๓ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปรีหรือรูปขอบขนานถึงรูปใบหอกกลับ กว้าง ๓-๑๐ ซม. ยาว ๘-๓๐ ซม. ปลายหยักคอดเป็นติ่งแหลมสั้น โคนสอบเรียว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๕-๒๐ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบแบนหรือเป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เมื่ออ่อนอาจมีขนและมีเกล็ด เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได สังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑๐-๒๕ ซม. อาจมีช่องอากาศบ้างประปราย โคนก้านใบขยายกว้างโอบส่วนของลำต้นหรือกิ่ง ก้านใบย่อยด้านข้างยาว ๑-๑.๕ ซม. ก้านใบย่อยของใบปลายยาวประมาณ ๖ ซม.

 ดอกแยกเพศและดอกสมบูรณ์เพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ ช่อดอกเพศผู้ยาวได้ถึง ๕๐ ซม. มีช่อแขนงแผ่กว้างได้ถึง ๑๕ ซม. ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ปลายแยกเป็นแฉกมน ๓ แฉก ขอบมีขนครุยสีแดงเรื่อ กลีบดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีชมพูเรื่อ โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ด้านนอกมีขนนุ่ม ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๓ เกสร โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๓ มม. เกลี้ยง ช่อดอกเพศเมียคล้ายช่อดอกเพศผู้ แต่ช่อดอกมักไม่แยกแขนงและมีดอกขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย ช่อดอกยาวได้ถึง ๑.๑ ม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลม มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด มีขนหนาแน่น ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียรูปทรงรี มี ๓ พู สีคล้ำ ดอกสมบูรณ์เพศคล้ายดอกเพศเมีย

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงกลม กว้าง ๒-๔ ซม. ผลแก่จัดเปลือกด้านนอกสีชมพูหรือสีแดง เกลี้ยง ด้านในสีขาว เมล็ดสีน้ำตาล มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาว มี ๑-๓ เมล็ด

 ตาเสือใต้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นใกล้แหล่งน้ำ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกันยายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาเสือใต้
ชื่อวิทยาศาสตร์
Aphanamixis sumatrana (Miq.) Harms
ชื่อสกุล
Aphanamixis
คำระบุชนิด
sumatrana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm
- Harms, Hermann August Theodor
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm (1811-1871)
- Harms, Hermann August Theodor (1870-1942)
ชื่ออื่น ๆ
ตาเสือเล็ก (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย และนางสาวกนกพร ชื่นใจดี