ตาเป็ดดอกเดี่ยว

Ardisia uniflora K. Larsen et C. M. Hu

ไม้พุ่มเตี้ย กิ่งแขนงมักเป็นเหลี่ยม มีขนละเอียด กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง สีน้ำตาลคล้ำ ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ สีขาว ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

ตาเป็ดดอกเดี่ยวเป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ ๕๐ ซม. กิ่งแขนงมักเป็นเหลี่ยม มีขนละเอียด กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง สีน้ำตาลคล้ำ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๗-๑๔ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่ม ขอบค่อนข้างเรียบอาจหยักห่าง ๆ ตามขอบใกล้ปลายใบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสีน้ำตาลอมแดงตามเส้นใบ มีต่อมเล็กจำนวนมากกระจายทั่วไป เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๒ เส้น เห็นไม่ชัด ปลายเส้นโค้งจดกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาวประมาณ ๕ มม.

 ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ สีขาว ก้านดอกยาวประมาณ ๒.๕ มม. มีขนสีน้ำตาลอมแดง กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่หรือรูปรีแกมรูปไข่ กว้างประมาณ ๒ มม. ปลายมน ด้านนอกมีขนและมีต่อมเล็ก ๆ สีน้ำตาลหรือสีดำจำนวนมาก กลีบดอกยาวประมาณ ๘ มม. โคนมักเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นมาก ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอก กว้างประมาณ ๓ มม. ปลายแหลม ด้านนอกมีต่อมเล็ก ๆ ประปรายใกล้ปลายแฉก เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่หลอดกลีบดอกก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูรูปใบหอกแกมรูปแถบยาวประมาณ ๖ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ มีขน มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๗ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็กแหลม

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมเมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 ตาเป็ดดอกเดี่ยวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบในป่าดิบและตามเขาหินปูนที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่เวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาเป็ดดอกเดี่ยว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ardisia uniflora K. Larsen et C. M. Hu
ชื่อสกุล
Ardisia
คำระบุชนิด
uniflora
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Larsen, Kai
- Hu, Chi Ming
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Larsen, Kai (1926-2012)
- Hu, Chi Ming (1935-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์