ตาห่านเขา

Ardisia polysticta Miq.

ชื่ออื่น ๆ
จ้ำขาว (เชียงใหม่); ตานก, ตีนจำหลวง (เลย); ตาเป็ดตาไก่, ราม (นครศรีธรรมราช)
ไม้พุ่ม กิ่งเรียว รูปทรงกระบอกหรือเป็นเหลี่ยม มีต่อมสีดำรูปรียาวคล้ายขีดประ ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่นเชิงประกอบ ช่อซี่ร่มเชิงประกอบหรือคล้ายช่อซี่ร่มเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีชมพู ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม สุกสีแดงหรือสีแดงคล้ำ เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

ตาห่านเขาเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๓ ม. กิ่งเรียว รูปทรงกระบอกหรือเป็นเหลี่ยม มีต่อมสีดำรูปรียาวคล้ายขีดประ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๘.๕ซม. ยาว ๙-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลม หรือแหลมเป็นหาง โคนรูปลิ่มขอบหยักมนถี่ มักเป็นคลื่น มีต่อมใหญ่ตามหยักขอบใบแผ่นใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันด้านล่างมีเกล็ดเล็ก ๆ และมีต่อมเล็กสีดำจำนวนมากอยู่ทั่วไป มักพบตามขอบใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๕-๒๐ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกันเป็นเส้นขอบใน เส้นใบย่อยเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๐.๔-๑ ซม. ด้านบนเป็นร่องตื้น

 ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่นเชิงประกอบ ช่อซี่ร่มเชิงประกอบ หรือคล้ายช่อซี่ร่มเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่ง ค่อนข้างเกลี้ยง ก้านช่อสั้นมาก ก้านช่อย่อยยาว ๓-๗ ซม. ช่อย่อยแต่ละช่อมี ๔-๘ ดอก ก้านดอกยาว ๑-๒ ซม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปค่อนข้างกลม กว้าง ๒.๕-๓.๕ มม. ปลายมน มีต่อมเล็ก ๆ กลีบดอกสีขาวหรือสีชมพู ยาว ๖-๘ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นมาก ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ กว้างประมาณ ๔ มม. ปลายมนหรือแหลม ผิวมีต่อมเล็ก ๆ เป็นจุดหรือขีดประสีดำหรือสีม่วงกระจายทั่วไป เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่หลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว ๔.๕-๕ มม. ด้านหลังมีต่อมใสขนาดเล็ก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยง มี ๑ ช่อง มีออวุลประมาณ ๕ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็กแหลม

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๗-๙ มม. เมื่อสุกสีแดงหรือสีแดงคล้ำผิวมีต่อมรูปค่อนข้างกลมหรือรูปรียาวสีดำจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วไป เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 ตาห่านเขามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค พบตามที่ชุ่มชื้น ริมแหล่งน้ำ ในป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐๐-๒,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีน ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาห่านเขา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ardisia polysticta Miq.
ชื่อสกุล
Ardisia
คำระบุชนิด
polysticta
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1811-1871)
ชื่ออื่น ๆ
จ้ำขาว (เชียงใหม่); ตานก, ตีนจำหลวง (เลย); ตาเป็ดตาไก่, ราม (นครศรีธรรมราช)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์