ตาว

Arenga pinnata (Wurmb) Merr.

ชื่ออื่น ๆ
กาฉก (ชุมพร); ฉก, ชก (ใต้); ต๋าว (เหนือ); เต่าเกียด (กาญจนบุรี); โตะ (ตราด); เนา (ตรัง); ลูกชิด (กลา
ปาล์มลำต้นเดี่ยว มีกาบใบเก่ารวมโคนก้านใบติดตามลำต้น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน แต่ละต้นมี ๒๐-๓๐ ใบ มีใบย่อย ๒๔๐-๓๒๐ ใบ รูปแถบ ปลายแหว่งไม่เป็นระเบียบ โคนมีติ่งใบ แผ่นใบด้านล่างสีเงินอมเทา มีนวล กาบใบมีขอบเป็นเส้นใยสีดำสานกันเป็นร่างแห ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกกาบใบ มีใบประดับจำนวนมาก ดอกสีขาวอมเขียว ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม ผลอ่อนสีเขียวอมเหลือง สุกสีส้มถึงสีแดง ผิวเรียบ เมล็ดรูปค่อนข้างกลม มี ๑-๓ เมล็ด

ตาวเป็นปาล์มลำต้นเดี่ยว สูงได้ถึง ๒๐ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางต้น ๔๐-๖๐ ซม. มีกาบใบเก่ารวมโคนก้านใบติดตามลำต้น

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๖-๑๒ ม. แต่ละต้นมี ๒๐-๓๐ ใบ มีใบย่อย ๒๔๐-๓๒๐ ใบ เรียงสลับไม่เป็นระนาบเดียว รูปแถบ



กว้าง ๗-๑๐ ซม. ยาว ๑.๒-๑.๓ ม. ปลายแหว่งไม่เป็นระเบียบ โคนมีติ่งใบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเงินอมเทา มีนวล เส้นใบจากโคนใบจำนวนมาก เห็นไม่ชัด เส้นกลางใบเห็นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๑.๗-๒.๒ ม. แข็ง ตรงหรือโค้งเล็กน้อยบริเวณช่วงปลาย กาบใบมีขอบเป็นเส้นใยสีดำสานกันเป็นร่างแห

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง มี ๔-๖ ช่อ ออกตามซอกกาบใบ ยาว ๑.๕-๒.๕ ม. ปลายมักห้อยลง ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียออกไม่พร้อมกัน ช่อดอกเพศเมียส่วนมากออกที่ปลายยอด มีใบประดับรูปสามเหลี่ยมจำนวนมาก ดอกสีขาวอมเขียว มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ ๓ กลีบ


ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยงรูปกลม ยาวประมาณ ๑ มม. เรียงซ้อนเหลื่อม หนา กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ขอบเรียงจดกันในดอกตูม เกสรเพศผู้จำนวนมาก ไม่มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ดอกเพศเมียมีขนาดเล็กกว่า รูปทรงกลม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลม มี ๒-๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ไร้ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียปลายแยกเป็น ๒-๓ แฉก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๗ ซม. ผลอ่อนสีเขียวอมเหลือง สุกสีส้มถึงสีแดง ผิวเรียบ ผนังผลชั้นกลางมีเนื้อ มีสารที่ทำให้ผิวหนังแสบคัน เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม เรียบ มี ๑-๓ เมล็ด

 ตาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ในประเทศไทยนิยมปลูกทั่วไปตามพื้นที่ชนบท บริเวณพื้นที่ราบ และพื้นที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้และภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ ยอดอ่อนและแกนกลางลำต้นนำมารับประทานได้ น้ำหวานจากช่อดอกสามารถแปรรูปเป็นน้ำตาลโดยการเคี่ยวให้งวด นำไปหมักเป็นน้ำตาลเมาหรือไวน์ หรือหมักเป็นน้ำส้มสายชูหรือน้ำส้มชุก (ภาคเหนือ) ใช้ปรุงอาหารหรือทำกระแช่ ผลตาวนำไปต้มแล้วแกะเอาเมล็ดอ่อนนำมารับประทานได้ สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น ลูกชิดเชื่อม ลูกชิดปี๊บ ลูกชิดกระป๋อง และลูกชิดอบแห้ง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Arenga pinnata (Wurmb) Merr.
ชื่อสกุล
Arenga
คำระบุชนิด
pinnata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wurmb, Friedrich von
- Merrill, Elmer Drew
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wurmb, Friedrich von (1742-1781)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
ชื่ออื่น ๆ
กาฉก (ชุมพร); ฉก, ชก (ใต้); ต๋าว (เหนือ); เต่าเกียด (กาญจนบุรี); โตะ (ตราด); เนา (ตรัง); ลูกชิด (กลา
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง และนางสาวอนุสรา แก้วเหมือน