ตารา

Maasia glauca (Hassk.) Mols, Kessler et Rogstad

ไม้ต้นขนาดกลาง เปลือกเรียบ สีเทา มีริ้วห่าง ๆ กิ่งอ่อนมีขน กิ่งแก่เกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ดอกเดี่ยว มักอยู่เป็นกลุ่มตามปุ่มปมสั้น ๓-๑๐ ดอก ออกตามกิ่งแก่เหนือรอยแผลใบ มีกลิ่นหอม ดอกสีเหลืองหรือสีเหลืองอมเขียวอ่อน ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยรูปทรงค่อนข้างกลม เกลี้ยง สุกสีแดงคล้ำถึงสีดำ เมล็ดรูปทรงรีหรือรูปทรงค่อนข้างกลม ผิวย่น มี ๑ เมล็ด

ตาราเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๕ ม. เปลือกเรียบ สีเทา มีริ้วห่าง ๆ กิ่งอ่อนมีขน กิ่งแก่เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๓.๕-๗ ซม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมนหรือรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่า มีนวล เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นร่องตื้นทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๕ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแหไม่เป็นระเบียบ เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๐.๖-๑.๒ ซม.

 ดอกเดี่ยว มักอยู่เป็นกลุ่มตามปุ่มปมสั้น ๓-๑๐ ดอก ออกตามกิ่งแก่เหนือรอยแผลใบ ก้านดอกเรียวยาว ๑-๑.๕ ซม. พบบ้างที่ยาวได้ถึง ๓ ซม. มักมีสีแดงแกมสีเขียวหรือสีแดงแกมสีม่วง ใบประดับมีขนาดเล็ก รูปสามเหลี่ยม ดอกสีเหลืองหรือสีเหลืองอมเขียวอ่อน มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปค่อนข้างกลมหรือรูปสามเหลี่ยม กว้างและยาว ๑-๒ มม. ด้านในเกลี้ยง ด้านนอกมีขน กลีบดอก ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ วง กลีบวงนอกรูปขอบขนานแกมรูปแถบหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายมน กว้างประมาณ ๔ มม. ยาว ๑-๒ ซม. มีขนทั้ง ๒ ด้าน กลีบวงในแคบและสั้นกว่าเล็กน้อย เกสรเพศผู้ยาวประมาณ ๑ มม. อับเรณูเล็ก แกนอับเรณูด้านบนแบน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีจำนวนมาก แยกเป็นอิสระ มีได้ถึง ๑๐ รังไข่รูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑.๕ มม. เกลี้ยง มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากหรือไร้ก้าน ยอดเกสรเพศเมียรูปไข่หรือรูปรี มีขน

 ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยรูปทรงค่อนข้างกลม กว้างและยาว ๑-๑.๘ ซม. เกลี้ยง สุกสีแดงคล้ำถึงสีดำ เนื้อนุ่ม ฉ่ำน้ำ รสหวาน ก้านช่อผลยาว ๑-๓ ซม. ก้านผลยาวประมาณ ๑ ซม. เกลี้ยง เมล็ดรูปทรงรีหรือรูปทรงค่อนข้างกลม ผิวย่น มี ๑ เมล็ด

 ตารามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ ตามป่าดิบและป่าพรุ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่เมียนมา หมู่เกาะนิโคบาร์ และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตารา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Maasia glauca (Hassk.) Mols, Kessler et Rogstad
ชื่อสกุล
Maasia
คำระบุชนิด
glauca
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hasskarl, Justus Carl
- Mols, Johan B.
- Kessler, Paul Joseph Antonius
- Rogstad, Steven H.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Hasskarl, Justus Carl (1811-1894)
- Mols, Johan B. (fl. 2000)
- Kessler, Paul Joseph Antonius (1958-)
- Rogstad, Steven H. (fl. 1989)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์