ตาปลาใบหยัก

Ardisia tetramera K. Larsen et C. M. Hu

ไม้พุ่ม กิ่งแขนงเรียว ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกตามยอดหรือตามปลายกิ่ง ช่อโปร่ง ดอกสีชมพู กลีบดอกมีต่อมเล็ก ๆ คล้ายจุดหรือขีดประสีส้มหรือสีค่อนข้างดำกระจายทั่วไป ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

ตาปลาใบหยักเป็นไม้พุ่ม สูง ๐.๕-๒ ม. กิ่งแขนงเรียว

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๔.๕ ซม. ยาว ๑๐-๒๓ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบหยักซี่ฟันหรือหยักถี่ แผ่นใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง มีต่อมเล็กกระจายทั่วไปและมีจำนวนมากตามบริเวณใกล้ขอบใบเส้นใบเห็นเด่นชัด เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๘ เส้น เรียงขนานถี่ ปลายเส้นโค้งจดกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม. โคนส่วนที่เชื่อมติดกับกิ่งมักแผ่กว้างด้านบนเป็นร่อง ขอบก้านค่อนข้างบางคล้ายเป็นครีบเล็กต่อไปถึงกิ่งคล้ายเป็นแนวสั้น

 ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกตามยอดหรือตามปลายกิ่ง ช่อโปร่ง ทั้งช่อยาว ๓-๑๓ ซม. ช่อแขนงยาว ๒-๑๐ ซม. ดอกสีชมพู มีจำนวนมาก ก้านดอกยาว ๐.๘-๒ ซม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๑ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ปลายมน ด้านนอกมีขนและมีต่อมเล็ก ๆ สีดำจำนวนมาก กลีบดอกสีชมพู โคนมักเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปใบหอก กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาว ๕-๖ มม. ปลายมนหรือแหลม ผิวมีต่อมเล็ก ๆ คล้ายจุดหรือขีดประสีส้มหรือสีค่อนข้างดำกระจายทั่วไป เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ติดที่หลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปใบหอกแกมรูปแถบ ยาวประมาณ ๕ มม. ด้านหลังมีต่อมเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไป รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนน้อย ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็กแหลม

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมเมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 ตาปลาใบหยักเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาปลาใบหยัก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ardisia tetramera K. Larsen et C. M. Hu
ชื่อสกุล
Ardisia
คำระบุชนิด
tetramera
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Larsen, Kai
- Hu, Chi Ming
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Larsen, Kai (1926-2012)
- Hu, Chi Ming (1935-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์