ตาปลาตันยง

Ardisia puberula H. R. Fletcher

ชื่ออื่น ๆ
ตันยงมาโรกะจิ (มลายู-ปัตตานี)
ไม้ต้น กิ่งมักค่อนข้างแบน กิ่งอ่อนมีเกล็ดเล็ก ๆ สีน้ำตาลแดงหนาแน่น กิ่งแก่มักค่อนข้างเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอก หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อแขนงคล้ายช่อซี่ร่ม ออกตามปลายกิ่ง แกนช่อมักหยักไปมา มีช่อแขนง ๓-๔ แขนง และมีเกล็ดเล็ก ๆ สีน้ำตาลแดงหนาแน่น ดอกสีชมพูอ่อนผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

ตาปลาตันยงเป็นไม้ต้น สูงประมาณ ๕ ม. กิ่งมักค่อนข้างแบน กิ่งอ่อนมีเกล็ดเล็ก ๆ สีน้ำตาลแดงหนาแน่นกิ่งแก่มักค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอก หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๘-๒.๕ ซม. ยาว ๗-๑๒ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ ไม่มีต่อมตามริมขอบใบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนเกลี้ยงด้านล่างมีเกล็ดเล็ก ๆ คล้ายผงประปราย มีต่อมขนาดเล็กจำนวนมาก เส้นแขนงใบข้างละ ๑๕-๒๐ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกันใกล้ขอบใบ เห็นชัดทางด้านล่าง เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อแขนงคล้ายช่อซี่ร่ม ออกตามปลายกิ่ง ช่อยาว ๒-๓.๕ ซม. แกนช่อมักหยักไปมา มีช่อแขนง ๓-๔ แขนง และมีเกล็ดเล็ก ๆ สีน้ำตาลแดงหนาแน่น แต่ละช่อแขนงมี ๓-๗ ดอก ดอกสีชมพูอ่อน ก้านดอกยาว ๑.๕-๒ มม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๑ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นมากปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. ปลายมน ด้านนอกมีต่อมเล็ก ๆ ขอบมีขนสั้น กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๐.๗ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแหลมผิวมีต่อมเล็ก ๆ สีแดงถึงสีแดงคล้ำค่อนข้างดำกระจายทั่วไป เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ยาวประมาณ ๒ มม. ติดที่หลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูรูปไข่ ยาวประมาณ ๑.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๔ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็กแหลม

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมเมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 ตาปลาตันยงเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาปลาตันยง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ardisia puberula H. R. Fletcher
ชื่อสกุล
Ardisia
คำระบุชนิด
puberula
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Fletcher, Harold Roy
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1907-1978)
ชื่ออื่น ๆ
ตันยงมาโรกะจิ (มลายู-ปัตตานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์