ตานดำ

Diospyros montana Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
ดำดง (ประจวบคีรีขันธ์); ตานส้าน, มะตูมดำ (กลาง); ถ่านไฟผี, มะเกลือกา, มะเกลือป่า, มะถ่านไฟผี (เหนือ,
ไม้ต้น ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไว ปลายกิ่งอ่อนมีลักษณะคล้ายหนาม ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี รูปขอบขนาน รูปไข่หรือรูปไข่กลับ ใบแห้งสีออกดำ ดอกแยกเพศต่างต้น ออกตามกิ่งและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง สีขาวหรือสีเหลืองช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุก ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๔ กลีบ ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือรูปทรงค่อนข้างรี เมื่อแห้งสีค่อนข้างดำ กลีบเลี้ยงขยายใหญ่ ติดทน แยกจากกัน และพับกลับ เมล็ดแข็ง รูปไตหรือรูปจันทร์เสี้ยว

ตานดำเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไว ปลายกิ่งอ่อนมีลักษณะคล้ายหนาม เปลือกสีเทาถึงสีค่อนข้างดำ แตกเป็นร่องเป็นสะเก็ดทั่วไป กระพี้สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน แก่นสีดำใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี รูปขอบขนาน รูปไข่หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑-๕ ซม. ยาว ๑.๕-๑๒ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนรูปลิ่ม มนกว้าง ตัด หรือหยักเว้า แผ่น

 ใบบางหรือค่อนข้างหนา พบน้อยที่หนาคล้ายแผ่นหนังใบแห้งสีออกดำ เมื่ออ่อนมีขนนุ่มทั้ง ๒ ด้าน และขนจะร่วงไปเมื่อแก่ เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๗ เส้น เส้นมักคดเป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เส้นใบย่อยคล้ายร่างแห เป็นร่องทางด้านบนและพอสังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๒-๑ ซม. มีขนยาวประปราย

 ดอกแยกเพศต่างต้น ออกตามกิ่งและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุก ก้านดอกสั้นมาก ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๔ กลีบ กลีบเลี้ยงโคนอาจเชื่อมติดกันเล็กน้อยเป็นรูประฆังยาว ๑-๒ มม. เกลี้ยงหรืออาจมีขนนุ่มประปรายทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกสีขาวหรือสีเหลือง ยาว ๐.๘-๑ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโท ปลายแยกประมาณกึ่งกลางของ




ดอกเป็น ๔ แฉก เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้มี ๑๔-๒๐ เกสร เกลี้ยง รังไข่ของเกสรเพศเมียที่เป็นหมันมีขนหยาบแข็ง ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว ก้านดอกยาวประมาณ ๕ มม. ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายดอกเพศผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมี ๔-๑๒ เกสร เกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลม เกลี้ยง มี ๘ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๔ ก้าน เกลี้ยง

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือรูปทรงค่อนข้างรี กว้างและยาว ๑-๓ ซม. เกลี้ยง เมื่อแห้งสีค่อนข้างดำ กลีบเลี้ยงขยายใหญ่ ติดทน แยกจากกันและพับกลับ เมื่ออ่อนมีขนนุ่มทั้ง ๒ ด้าน แต่ละกลีบอาจแผ่กว้างในแนวระนาบหรือพับกลับไปทางโคน ขอบกลีบเป็นคลื่น ก้านผลยาวไม่เกิน ๑ ซม. เมล็ดแข็ง รูปไตหรือรูปจันทร์เสี้ยว

 ตานดำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบในป่าดิบชื้น ป่าบนเขาหินปูน ป่าละเมาะและป่าผลัดใบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคมเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องตกแต่งบ้าน ผลใช้ย้อมผ้าและใช้เบื่อปลา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตานดำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Diospyros montana Roxb.
ชื่อสกุล
Diospyros
คำระบุชนิด
montana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
ดำดง (ประจวบคีรีขันธ์); ตานส้าน, มะตูมดำ (กลาง); ถ่านไฟผี, มะเกลือกา, มะเกลือป่า, มะถ่านไฟผี (เหนือ,
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย