ตานซ่าน

Schizaea dichotoma (L.) Sm.

ชื่ออื่น ๆ
ตานกล่อม (ชุมพร); ตานพร้าว, ว่านดอกดิน (สุราษฎร์ธานี)
เฟิร์นขึ้นบนพื้นดินหรือพื้นทราย ลำต้นสั้นหรือกึ่งตั้งตรง ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่เป็นกระจุกตั้งขึ้น แผ่นใบแตกแขนงเป็นคู่ ๒-๘ ครั้ง แผ่ออกคล้ายพัด รูปแถบ ปลายใบมีซอโรฟอร์หรือส่วนที่ยื่นออกมาชูอับสปอร์รูปคล้ายนิ้วมือเกิดเป็นกลุ่มที่ปลายใบ กลุ่มอับสปอร์เรียงเป็น ๒ แถวบนซอโรฟอร์

ตานซ่านเป็นเฟิร์นขึ้นบนพื้นดินหรือพื้นทรายลำต้นสั้นหรือกึ่งตั้งตรง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๔ มม. มีรากและขนหนาแน่น ขนมีลักษณะเป็นข้อ ยาว ๑-๒ มม. สีน้ำตาลเป็นมันวาว

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่เป็นกระจุกตั้งขึ้น แผ่นใบแตกแขนงเป็นคู่ ๒-๘ ครั้ง แผ่ออกคล้ายพัด สีเขียว เกลี้ยงเป็นมัน แต่ละแฉกรูปแถบ กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๑๐-๕๕ ซม. แฉกใบปลายสุดกว้าง ๑-๑.๕ มม. ขอบใบเรียบแผ่นใบหนาเหนียว เป็นมัน เส้นใบขนานตามความยาวของแผ่นใบ บริเวณใกล้ปลายใบจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อซอโรฟอร์เจริญเต็มที่ ก้านใบยาว ๑๐-๓๐ ซม. โคนก้านใบสีน้ำตาลแดง สอบแคบ

 ซอโรฟอร์หรือส่วนที่ยื่นออกมาชูอับสปอร์รูปคล้ายนิ้วมือ ยาว ๒-๗ มม. เกิดเป็นกลุ่มที่ปลายใบ แต่ละกลุ่มมีซอโรฟอร์ ๙-๑๓ อัน เมื่อยังอ่อนรูปคล้ายกำปั้นสีเขียว และแผ่ออกเป็นรูปคล้ายหวีหรือรูปพัดเมื่อเจริญ


เต็มที่ สีน้ำตาล กลุ่มอับสปอร์เรียงเป็น ๒ แถวบนซอโรฟอร์ อับสปอร์มีจำนวนมาก มีเส้นแทรกเป็นขนสีน้ำตาลอ่อนปะปน

 ตานซ่านมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ มักพบตามหาดทรายใต้ร่มไม้หรือตามไหล่เขา ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่มาดากัสการ์ อินเดีย ปากีสถาน เมียนมา จีนตอนใต้ ญี่ปุ่นตอนใต้ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู จนถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และโปลินีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตานซ่าน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Schizaea dichotoma (L.) Sm.
ชื่อสกุล
Schizaea
คำระบุชนิด
dichotoma
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Smith, James Edward
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Smith, James Edward (1759-1828)
ชื่ออื่น ๆ
ตานกล่อม (ชุมพร); ตานพร้าว, ว่านดอกดิน (สุราษฎร์ธานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สหณัฐ เพชรศรี และ ศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด