ตาน

Xyris complanata R. Br.

ชื่ออื่น ๆ
หญ้ากระถิน (ตราด); หญ้ากระเทียม (ปราจีนบุรี); หญ้าตาน (นราธิวาส)
ไม้ล้มลุกปีเดียว ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียวโอบซ้อนกันแน่นใกล้โคน รูปแถบ ช่อดอกแบบช่อเชิงลดแน่น ออกที่ปลายยอด รูปรีถึงรูปทรงกระบอก ก้านช่อดอกโดด มีสันตามยาว ๑-๒ สัน ใบประดับเรียงซ้อนเหลื่อมคล้ายเกล็ดปลา ติดทน ดอกสีเหลือง ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู สีน้ำตาลเข้ม ทรงรูปไข่กลับ เมล็ดสีน้ำตาลอมแดง ทรงรูปไข่ มีจำนวนมาก

ตานเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ออกเป็นกอแน่น สูง ๐.๕-๑ ม. มีเหง้าและมีไหล

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียวโอบซ้อนกันแน่นใกล้โคน มี ๗-๒๐ ใบ พบบ้างที่มีได้ถึง ๗๐ ใบ รูปแถบ กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๒๐-๖๐ ซม. ปลายแหลมหรือเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ มีปุ่มเล็กจำนวนมากเรียงติดกันเป็นแถว แผ่นใบแบนหนาคล้ายแผ่นหนัง บิดงอและมีสันตามยาว มีกาบใบสีดำอมน้ำตาล มีลิ้นใบ

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลดแน่น ออกที่ปลายยอด รูปรีถึงรูปทรงกระบอก กว้าง ๕-๙ มม. ยาว ๐.๙-๓.๑ ซม. ก้านช่อดอกโดด แบน กว้าง ๑.๕-๓ มม. ยาว ๖๐-๘๐ ซม. ผิวเรียบ บิด มีสันตามยาว ๑-๒ สัน ขอบมีปุ่มเล็กกระจายทั่วไป ใบประดับเรียงซ้อนเหลื่อมคล้ายเกล็ดปลา ติดทน ใบประดับที่โคนช่อไม่มีดอกมี ๔-๘ ใบ สีน้ำตาลอมเขียวถึงสีน้ำตาลอ่อน รูปไข่ กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๕-๖ มม. ใบประดับที่มีดอกสีน้ำตาลแกมสีเขียวถึงสีน้ำตาล สีเข้มขึ้นตามอายุ รูปไข่กลับถึงรูปเกือบกลม กว้าง ๕-๗ มม. ยาว ๖-๘ มม. ปลายเว้าตื้นเล็กน้อย ขอบช่วงปลายเรียบถึงมีขนครุย ขอบช่วงโคนเรียบ ใกล้ส่วนปลายมีบริเวณเป็นแถบรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดแกมรูปรี กว้าง ๒-๒.๕ มม. ยาว ๒.๕-๓ มม. ดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ สีน้ำตาลอ่อน กลีบข้าง ๒ กลีบ สีน้ำตาล กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๕-๖ มม. ติดทน ขอบเป็นสัน มีขนครุย กลีบบน ๑ กลีบ รูปไข่ เป็นเยื่อบางหุ้มดอกตูม ร่วงเมื่อดอกบาน กลีบดอก ๓ กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง ๗-๙ มม. ยาว ๖-๘ มม. ขอบปลายกลีบจักฟันเลื่อยถึงแหว่ง เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ติดอยู่บนกลีบดอก มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันและเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์อย่างละ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูแบน ยาว ๑.๕-๒ มม. อับเรณูรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาว ๒-๒.๕ มม. ปลายแยกเป็นแฉกตื้น ๒ แฉก โคนรูปหัวลูกศร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๓-๕ มม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แต่ละแฉกยาว ๒-๓ มม.

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู สีน้ำตาลเข้ม ทรงรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๕-๓ มม. ยาว ๕-๖ มม. เมล็ดสีน้ำตาลอมแดง ทรงรูปไข่ กว้าง ๐.๓-๐.๔ มม. ยาวประมาณ ๐.๖ มม. มีจำนวนมาก มีสันตามยาว ๑๔-๑๕ สัน และสันตามขวาง ๒-๔ สัน

 ตานมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามพื้นที่เปิดโล่งหรือพื้นที่ชื้นแฉะ ในป่าเต็งรังและป่าดิบเขาระดับต่ำ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๖๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ดอกมักบานช่วงเวลา ๑๐.๐๐-๑๖.๐๐ น. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Xyris complanata R. Br.
ชื่อสกุล
Xyris
คำระบุชนิด
complanata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Brown, Robert
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1773-1858)
ชื่ออื่น ๆ
หญ้ากระถิน (ตราด); หญ้ากระเทียม (ปราจีนบุรี); หญ้าตาน (นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง