ตาตุ่มตรี

Triadica cochinchinensis Lour.

ชื่ออื่น ๆ
ตะเคียนเฒ่า (ตะวันออกเฉียงใต้); โพนก, ส้อม, หญ้าจง, เหยื่อจง (ใต้); สลีนก (เหนือ)
ไม้ต้น ผลัดใบช่วงสั้น กิ่งมีช่องอากาศ ใบเดี่ยว เรียงเวียน หรือเรียงเวียนถี่เป็นกระจุกตามปลายกิ่ง รูปรี รูปไข่หรือรูปขอบขนาน ขอบเรียบและมีต่อมตามขอบ ด้านล่างมีปุ่มเล็ก ๆ เป็นนวลกระจายทั่วไป ใบอ่อนสีแดงอมน้ำตาล ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง คล้ายช่อเชิงลด ออกตามปลายกิ่งและตามซอกใบ ดอกสีเขียวอมเหลือง ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลม สุกสีดำ มีแกนผลติดทน เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม

ตาตุ่มตรีเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๕ ม. ผลัดใบช่วงสั้น กิ่งมีช่องอากาศ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน หรือเรียงเวียนถี่เป็นกระจุกตามปลายกิ่ง รูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๓.๕-๑๐ ซม. ปลายมนถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเรียบและมีต่อมตามขอบ แผ่นใบบาง ด้านล่างมีปุ่มเล็ก ๆ เป็นนวลกระจายทั่วไป ใบอ่อนสีแดงอมน้ำตาล เส้นกลางใบนูนทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๗ เส้น ก้านใบยาว ๑-๓ ซม. ที่ปลายก้านมีต่อม ๑ คู่ หูใบรูปไข่ถึงรูปสามเหลี่ยม ยาว ๑-๒ มม.

 ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง คล้ายช่อเชิงลด ออกตามปลายกิ่งและตามซอกใบ สีเขียวอมเหลือง ยาว ๔-๙ ซม. ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ใบประดับรูปไข่ ยาวประมาณ ๑.๕ มม. มีต่อมที่โคน ส่วนของดอกเพศผู้ที่อยู่ทางปลายช่อ กว้าง ๐.๗-๑ ซม. ยาว ๒.๕-๕ ซม. แต่ละดอกมีใบประดับย่อยยาวประมาณ ๑ มม. ก้านดอกยาว ๒-๓ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓-๖ แฉก ยาวประมาณ ๑ มม. เกสรเพศผู้ ๒-๓ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวเท่ากับกลีบเลี้ยง อับเรณูกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๕ มม. ไม่มีเกสรเพศเมียเป็นหมัน ดอกเพศเมียอยู่ทางโคนช่อ มีได้ถึง ๑๓ ดอก แต่บางช่ออาจไม่มีดอกเพศเมีย ก้านดอกยาว ๒-๔ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ยาว ๑-๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ไม่มีก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียยาว ๒-๓ มม.

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๗-๑ ซม. เกลี้ยง สุกสีดำ มีแกนผลติดทน เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓.๕-๔.๕ มม.

 ตาตุ่มตรีมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค พบตามชายป่าดิบ ตามเชิงเขา ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย จีน ไต้หวัน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 ประโยชน์ เนื้อไม้อ่อน ใช้ทำก้านไม้ขีด กล่องไม้ รากและใบใช้เป็นสมุนไพร น้ำมันจากเมล็ดใช้ทำสบู่.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาตุ่มตรี
ชื่อวิทยาศาสตร์
Triadica cochinchinensis Lour.
ชื่อสกุล
Triadica
คำระบุชนิด
cochinchinensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1717-1791)
ชื่ออื่น ๆ
ตะเคียนเฒ่า (ตะวันออกเฉียงใต้); โพนก, ส้อม, หญ้าจง, เหยื่อจง (ใต้); สลีนก (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวนันท์นภัส ภัทรหิรัญไตรสิน