ตาคลาย

Dysoxylum grande Hiern

ชื่ออื่น ๆ
ตาปู (เลย); ตาเสือ (อุทัยธานี); ตาเสือขนนุ่ม (สุราษฎร์ธานี); ตาเสือใหญ่ (ใต้)
ไม้ต้นขนาดใหญ่ ต้นที่มีขนาดใหญ่มากโคนต้นมักมีพูพอนจำนวนมากเป็นสันสูงและยาวไปตามพื้น เปลือกต้นสีน้ำตาลแกมสีเทา ค่อนข้างเรียบ มีช่องอากาศเล็ก ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๑๓-๑๙ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกัน รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ดอกสมบูรณ์เพศหรือดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ดอกสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมแป้นหรือรูปทรงกลมแกมทรงรูปไข่กลับ มีน้ำยางใส ผลแก่สีส้ม ส่วนใหญ่แตกเป็น ๔ เสี่ยง เมล็ดสีดำ ทรงรูปไข่กลับ มีขั้วเมล็ดขนาดใหญ่

ตาคลายชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๔๐ ม. ต้นที่มีขนาดใหญ่มากโคนต้นมักมีพูพอนจำนวนมากเป็นสันสูงได้ถึง ๒ ม. ยาวไปตามพื้นได้ถึง ๗ ม. เปลือกต้นสีน้ำตาลแกมสีเทา ค่อนข้างเรียบ มีช่องอากาศเล็ก เปลือกชั้นในสีขาวอมเหลืองอ่อน อาจมีแต้มสีม่วงแกมสีชมพู กิ่งอ่อนมีขน

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาวได้ถึง ๑ ม. มีใบย่อย ๑๓-๑๙ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกัน รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง ๓.๕-๖ ซม. ยาว ๑๐-๑๙ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือกึ่งยาวคล้ายหาง โคนมนหรือรูปลิ่ม บางครั้งอาจเบี้ยว ขอบหยักตื้นหรือเป็นคลื่น ค่อนข้างเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน มีต่อมเล็กคล้ายจุดกระจายทั่วไปทั้ง ๒ ด้าน มีขนนุ่มสีเหลืองหนาแน่นตามเส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๒๓-๒๕ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไป เส้นใบย่อยเห็นชัด ใบอ่อนด้านบนสีน้ำตาลแดง ก้านใบยาว ๑๐-๑๕ ซม. มีขน โคนก้านป่อง ก้านใบย่อยยาว ๕-๙ มม. มีขน

 ดอกสมบูรณ์เพศหรือดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ช่อดอกเพศเมียยาวได้ถึง ๑๐ ซม. ช่อดอกเพศผู้แบบช่อแยกแขนงยาวได้ถึง ๓๐ ซม. และช่อแขนงยาวได้ถึง ๕ ซม. แกนช่อมักเป็นเหลี่ยม มีขนนุ่มใบประดับและใบประดับย่อยขนาดเล็ก ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ร่วงง่าย ดอกมีกลิ่นหอม มักอยู่เป็นกลุ่ม ๓-๔ ดอก ก้านดอกสั้นมาก ดอกสมบูรณ์เพศและดอกเพศเมียใหญ่กว่าดอกเพศผู้เล็กน้อย กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ยาวประมาณ ๔.๕ มม. (ในดอกเพศผู้ยาวประมาณ ๒ มม.) ด้านนอกมีขน ปลายแยกเป็นแฉกเล็กมาก ๔ แฉก กลีบดอกสีเหลืองอ่อน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๙ มม. (ในดอกเพศผู้ยาวประมาณ ๗ มม.) ด้านนอกมีขน เกสรเพศผู้ ๘ เกสร โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวได้ถึง ๕ มม. ปลายหยัก ๘ หยัก แต่ละหยักรูปสามเหลี่ยม สีขาวอมเหลืองอ่อน ด้านนอกค่อนข้างเกลี้ยง ด้านในมีขน ส่วนปลายก้านชูอับเรณูที่แยกกันเล็กน้อยอยู่ใกล้ขอบปากหลอดและมีอับเรณูติดอยู่ด้านใน อับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑.๒ มม. จานฐานดอกคล้ายหลอดสั้น ยาวประมาณ ๑.๓ มม. ด้านนอกค่อนข้างเกลี้ยง ด้านในมีขนยาวสีเหลือง โอบรอบโคนรังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนหนาแน่น มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๓-๔ มม. มักเป็นสี่เหลี่ยม มีขนที่โคนก้าน ยอดเกสรเพศเมียค่อนข้างกลมแป้น ขนาดเล็ก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมแป้นหรือรูปทรงกลมแกมทรงรูปไข่กลับ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ ซม. ยาวได้ถึง ๔ ซม. ค่อนข้างเกลี้ยง มีน้ำยางใส ผลแก่สีส้ม ส่วนใหญ่แตกเป็น ๔ เสี่ยง แต่ละเสี่ยงมี ๑ เมล็ด หรือไร้เมล็ด เมล็ดสีดำ ทรงรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. ขั้วเมล็ดขนาดใหญ่

 ตาคลายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค พบตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ตามริมลำธาร เขาหินปูน และตามทุ่งหญ้าที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๖๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย จีน ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาคลาย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dysoxylum grande Hiern
ชื่อสกุล
Dysoxylum
คำระบุชนิด
grande
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hiern, William Philip
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1839-1925)
ชื่ออื่น ๆ
ตาปู (เลย); ตาเสือ (อุทัยธานี); ตาเสือขนนุ่ม (สุราษฎร์ธานี); ตาเสือใหญ่ (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์