ตากุ้ง

Vitex thailandica Bramley

ไม้พุ่มหรือไม้พุ่มกึ่งเลื้อย กิ่งออกตรงข้าม รูปทรงกระบอกหรือเป็นสี่เหลี่ยม เกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่หรือรูปรี ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีขาวแกมสีเหลือง กลีบดอกรูปปากเปิด ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่กลับ เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

ตากุ้งเป็นไม้พุ่มหรือไม้พุ่มกึ่งเลื้อย สูงได้ถึง ๓ ม. กิ่งออกตรงข้าม รูปทรงกระบอกหรือเป็นสี่เหลี่ยม เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่หรือรูปรีกว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๓-๘ ซม. ปลายแหลม มน หรือมนและมีติ่งแหลม โคนมนกลมถึงสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกือบเกลี้ยง ด้านล่างมีขนและมีต่อม เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๙ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. เกลี้ยง

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๑๕ ซม. ก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๗ ซม. ก้านและแกนช่อดอกมีขนสั้นและมีต่อม ใบประดับและใบประดับย่อยรูปแถบ ยาว ๑-๓ มม. ร่วงง่าย ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ มม. ดอกสีขาวแกมสีเหลือง กลีบเลี้ยงยาว ๒-๖ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ด้านนอกมีขนสั้น ด้านในเกลี้ยง ปลายแยกเป็น ๕ แฉกสั้น รูปสามเหลี่ยม ปลายแหลมหรือมน กลีบดอกรูปปากเปิด ยาว ๐.๗-๑ ซม. โผล่พ้นหลอดกลีบเลี้ยง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอกแกมรูประฆัง เกลี้ยง ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก ปลายมนกลม แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบนมี ๒ แฉก ซีกล่างมี ๓ แฉก แฉกกลางมีขนาดใหญ่สุด เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากันติดอยู่ในหลอดกลีบดอกประมาณกึ่งกลางหลอด โผล่พ้นหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูเรียวยาว โคนมีขน เหนือขึ้นไปเกลี้ยง อับเรณูรูปขอบขนาน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบทรงรูปไข่กลับ เกลี้ยง ปลายมีต่อม มี ๔ ช่องไม่สมบูรณ์แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาวปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่กลับ เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 ตากุ้งมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบตามที่น้ำท่วมหรือริมลำธาร ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๐-๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่กัมพูชาและเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตากุ้ง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Vitex thailandica Bramley
ชื่อสกุล
Vitex
คำระบุชนิด
thailandica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Bramley, Gemma Louise Candace
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1979-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สมราน สุดดี