ตากวาง

Salacia verrucosa Wight

ชื่ออื่น ๆ
กระโดนเย็น (ชลบุรี); กะดอเย็น (ตรัง, ตราด); กำดง (สุราษฎร์ธานี); กำแพงเจ็ดชั้น (หนองคาย); ขอบด้วงเถา
ไม้เลื้อยหรือไม้พุ่มกึ่งเลี้อย พบน้อยที่เป็นไม้ต้น ตามกิ่งแขนงมักมีช่องอากาศหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปไข่กลับ หูใบเล็ก มักร่วงง่าย ดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบหรือตามปุ่มใบประดับ สีขาวอมเขียว ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม สุกสีส้มถึงสีแดง เมล็ดรูปทรงค่อนข้างรี

ตากวางเป็นไม้เลื้อยหรือไม้พุ่มกึ่งเลื้อย สูงได้ถึง ๔ ม. พบน้อยที่เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๙ ม. ตามกิ่งแขนงมักมีช่องอากาศหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๔-๗.๕ ซม. ยาว ๘-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลมและสั้น โคนมนหรือสอบแหลมขอบหยักมนห่าง ๆ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนังหรืออาจบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีอ่อนกว่า เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น ก้านใบยาว ๐.๓-๑ ซม. หูใบเล็ก มักร่วงง่าย

 ดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบหรือตามปุ่มใบประดับ สีขาวอมเขียว ก้านดอกยาว ๐.๙-๑.๕ มม.


กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แฉกยาวประมาณ ๑ มม. ขอบเว้าแหว่งหรือเป็นชายครุยสั้นกลีบดอก ๕ กลีบ พบน้อยที่มี ๔ กลีบหรือ ๖-๗ กลีบเรียงซ้อนเหลื่อมในดอกตูม เมื่อบานกลีบดอกตั้งตรง รูปรีกว้างหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๒-๓ มม. จานฐานดอกรูปกลมแบน ตรงกลางเว้าเล็กน้อย แผ่ออกรอบ ๆ จนเป็นขอบบาง มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ มม. เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ก้านชูอับเรณูรูปลิ่ม อับเรณูแตกตามขวาง รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ ฝังอยู่ในจานฐานดอกเกือบมิด มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียมน

 ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕-๓.๕ ซม. สุกสีส้มถึงสีแดง เมล็ดรูปทรงค่อนข้างรี กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๑.๘ ซม.

 ตากวางมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบในป่าดิบ ป่าผลัดใบและลานหินทราย ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปีในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตากวาง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Salacia verrucosa Wight
ชื่อสกุล
Salacia
คำระบุชนิด
verrucosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wight, Robert
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1796-1872)
ชื่ออื่น ๆ
กระโดนเย็น (ชลบุรี); กะดอเย็น (ตรัง, ตราด); กำดง (สุราษฎร์ธานี); กำแพงเจ็ดชั้น (หนองคาย); ขอบด้วงเถา
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์