ตับเต่าแม่โถ

Stephania crebra Forman

ไม้เลื้อย เถาเรียวเล็ก เกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม โคนใบแบบก้นปิด ก้านใบและก้านช่อดอกมักมีสีม่วงอมแดง ดอกแยกเพศต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบ ออกเป็นช่อเดี่ยวหรือช่อคู่ ช่อดอกเพศเมียคล้ายช่อดอกเพศผู้แต่มีขนาดช่อใหญ่และยาวกว่า ดอกเล็กสีเหลืองอ่อนอมเขียวอ่อน ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ค่อนข้างแบน รูปไข่กลับ สีเขียวอ่อน เมื่อสุกสีเหลืองถึงสีส้มอมแดง ผนังผลชั้นในคล้ายรูปเกือกม้า ผิวแข็ง ตามขอบมีลวดลายคล้ายมีตุ่มเล็กเรียงเป็น ๔ แถว เมล็ดคล้ายรูปเกือกม้า มี ๑ เมล็ด

ตับเต่าแม่โถเป็นไม้เลื้อย เถาเรียวเล็ก เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๙-๑๖ ซม. ยาว ๑๒-๑๗ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนใบแบบก้นปิด ตัดเว้าตื้น หรือป้าน ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยง ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีจางกว่าและมีนวล เส้นใบแบนราบทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นใบจากจุดเชื่อมต่อก้านใบใต้แผ่นใบประมาณ ๑๐ เส้น เส้นแขนงใบจากเส้นกลางใบ ๑-๒ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นเด่นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑๐-๑๓ ซม. เกลี้ยง โคนก้านป่องและเป็นข้องอ ก้านใบและก้านช่อดอกมักมีสีม่วงอมแดง

 ดอกแยกเพศต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบ ออกเป็นช่อเดี่ยวหรือช่อคู่ พบบ้างที่ออกมากกว่า ๒ ช่อ ดอกสีเหลืองอ่อนอมเขียวอ่อน ช่อดอกเพศผู้ยาว ๔-๗ ซม. เกลี้ยงหรือมีขน ดอกเพศผู้มีขนาดเล็ก ก้านดอกยาว ๑-๓ มม. กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ สีเหลืองอ่อนอมเขียวอ่อน เรียงเป็น ๒ วง ขนาดไม่เท่ากัน กลีบวงนอก ๓ กลีบ รูปรี กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑.๗-๒ มม. กลีบวงใน ๓ กลีบ กว้างกว่ากลีบวงนอกเล็กน้อย กลีบดอก ๓ กลีบ รูปไข่กลับหรือรูปเกือบกลม กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. อวบมีเนื้อ เกสรเพศผู้ ๔-๘ เกสร เชื่อมติดกัน ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ปลายตัดแผ่คล้ายจาน อับเรณูมีขนาดเล็กมาก ช่อดอกเพศเมียคล้ายช่อดอกเพศผู้แต่มีขนาดช่อใหญ่และยาวกว่า ช่อดอกเพศเมียเมื่อเป็นผลยาวได้ถึง ๔ ซม. ดอกเพศเมียมีก้านสั้นมากหรือไร้ก้าน กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ สีเขียว กลีบดอก ๓ กลีบ รูปคล้ายกลีบดอกเพศผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉกตื้นหรือจักเป็นครุยห่าง

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ค่อนข้างแบน รูปไข่กลับ กว้าง ๕-๕.๕ มม. ยาว ๖-๖.๕ มม. ผนังผลชั้นในคล้ายรูปเกือกม้า ผิวแข็ง ตามขอบมีลวดลายคล้ายมีตุ่มเล็กเรียงเป็น ๔ แถว แถวละประมาณ ๑๐ ตุ่ม แถวริมอยู่ห่างจาก ๒ แถวกลางเล็กน้อย สีเขียวอ่อน เมื่อสุกสีเหลืองถึงสีส้มอมแดง มีรอยแผลของก้านยอดเกสรเพศเมียที่ใกล้ขั้วผล ก้านผลยาวประมาณ ๔ มม. เมล็ดคล้ายรูปเกือกม้า มี ๑ เมล็ด

 ตับเต่าแม่โถเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบตามป่าเบญจพรรณ ที่ชื้นริมลำธาร ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๐๐-๑,๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม

 ตับเต่าแม่โถมีลักษณะคล้ายกับตับเต่า ๑ (Stephania reticulata Forman) ต่างกันที่ตับเต่าแม่โถมีแผ่นใบ ช่อดอกเพศผู้ และดอกเพศผู้ขนาดใหญ่กว่า ผลมีขนาดเล็กกว่าและมีลวดลายของผนังชั้นในผลเรียบกว่า.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตับเต่าแม่โถ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Stephania crebra Forman
ชื่อสกุล
Stephania
คำระบุชนิด
crebra
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Forman, Lewis Leonard
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Forman, Lewis Leonard (1929-1998)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์