ตับหลามใบเล็ก

Xanthophyllum eurhynchum Miq.

ชื่ออื่น ๆ
กระดูกไก่, ชุมแสงไข่, ชุมแสงน้ำ (ใต้)
ไม้ต้นขนาดกลาง ตาข้างมีขน ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ มีส่วนปลายที่ยื่นยาวมาก ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อกระจะแยกแขนง มักพบช่อแขนงไม่เกิน ๒ ช่อ ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีขาวถึงสีเหลืองอ่อน เมื่อแห้งสีเหลืองอมน้ำตาล ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมหรือรูปทรงรี ผิวขรุขระ มักเป็นปุ่มปม มีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อนหนาแน่น เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม มี ๑-๒ เมล็ด

ตับหลามใบเล็กเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. มีตาข้างยาว ๐.๕-๐.๙ มม. มีขน

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๕.๕ ซม. ยาว ๖-๑๑ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือเรียวยาวคล้ายหาง ส่วนปลายที่ยื่นยาว ๐.๕-๒ ซม. โคนมนหรือรูปลิ่ม ขอบเรียบ มักเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนา ด้านล่างเรียบ และมีต่อม ๑-๕ ต่อม ขนาด ๐.๒-๐.๕ มม. กระจายระหว่างเส้นแขนงใบ เส้นกลางใบเป็นร่องตื้นทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๖ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๐.๔-๑ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อกระจะแยกแขนง มักพบช่อแขนงไม่เกิน ๒ ช่อ ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง แกนช่อมนหรือเป็นเหลี่ยม มีขนหนาแน่น ก้านดอกยาว ๒-๔ มม. มีขนหนาแน่น ดอกสีขาวถึงสีเหลืองอ่อน เมื่อแห้งสีเหลืองอมน้ำตาล กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปรีกว้างหรือรูปไข่กว้าง เรียงเป็น ๒ วง กลีบวงนอก ๓ กลีบ กว้าง ๑.๔-๒.๓ มม. ยาว ๑.๕-๒.๕ มม. กลีบวงใน ๒ กลีบ ขนาดใหญ่และยาวกว่ากลีบวงนอก กว้าง ๒-๓.๓ มม. ยาว ๒.๖-๓.๖ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาวถึงสีเหลืองอ่อน รูปช้อน กลีบคู่บนยาว ๖-๘ มม. มีขนที่โคนกลีบด้านใน กลีบคู่ข้างยาว ๖-๘ มม. เกลี้ยงหรือมีขนที่โคนกลีบด้านใน กลีบล่างยาว ๖.๕-๘ มม. ด้านในกลีบมีขนที่โคนหรือมีขนกระจายทั่วกลีบ ส่วนด้านนอกกลีบมีขนเฉพาะช่วงครึ่งบนตามแนวกลางกลีบ เกสรเพศผู้ ๘ เกสร ติดที่โคนกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาว ๖-๘ มม. อับเรณูยาว ๐.๔-๐.๕ มม. ก้านรังไข่สั้นมาก ยาวประมาณ ๐.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๗.๕ มม. มีขนหนาแน่น มี ๑ ช่อง มีออวุล ๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น มีขน ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมหรือรูปทรงรี เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. สีเขียว ผิวขรุขระ มักเป็นปุ่มปม มีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อนหนาแน่น เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม มี ๑-๒ เมล็ด

 ตับหลามใบเล็กมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่สิงคโปร์ สุมาตรา อินโดนีเซีย และคาบสมุทรมลายู

 หมายเหตุ ตับหลามใบเล็กในประเทศไทยมีรายงานของ van der Meijden (1982) แยกเป็น ๒ ชนิดย่อย ตามลักษณะความแตกต่างของผล คือ ชนิดย่อย Xanthophyllum eurhynchum Miq. subsp. eurhynchum มีขนาดผลใหญ่กว่าและผิวขรุขระ และชนิดย่อย Xanthophyllum eurhynchum Miq. subsp. maingayi (Hook. f. ex A. W. Benn.) Meijden มีขนาดผลเล็กกว่าและผิวค่อนข้างเรียบ มีรอยย่นตามขวาง มีร่องละเอียดและไม่สม่ำเสมอ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตับหลามใบเล็ก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Xanthophyllum eurhynchum Miq.
ชื่อสกุล
Xanthophyllum
คำระบุชนิด
eurhynchum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1811-1871)
ชื่ออื่น ๆ
กระดูกไก่, ชุมแสงไข่, ชุมแสงน้ำ (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์