ตังเจ็ดใบ

Aganope heptaphylla (L.) Polhill

ไม้เถาเนื้อแข็งหลายปี ลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดินหรือเกี่ยวพันไปบนต้นไม้อื่น มักแตกกิ่งมาก สีน้ำตาลอ่อนแกมสีเทา ผิวลำต้นมีลักษณะเป็นริ้วตามแนวยาว ตามกิ่งพบช่องอากาศกระจายทั่วไป ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อย ๕-๗ ใบ เรียงตรงข้าม รูปรี ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกรูปดอกถั่ว สีขาวนวลหรือสีขาวแกมสีเขียวอ่อน ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปคล้ายแถบยาว แบน มักคอดเว้าระหว่างเมล็ด และมีครีบเล็ก ๆ เฉพาะขอบด้านบน ยาวตลอดความยาวของขอบด้านบนของผล เมล็ดรูปคล้ายไต มี ๑-๔ เมล็ด

ตังเจ็ดใบเป็นไม้เถาเนื้อแข็งหลายปี ลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดินหรือเกี่ยวพันไปบนต้นไม้อื่น มักแตกกิ่งมาก สีน้ำตาลอ่อนแกมสีเทา ผิวลำต้นมีลักษณะเป็นริ้วตามแนวยาว ตามกิ่งพบช่องอากาศกระจายทั่วไป ยอดอ่อนมักมีขนปกคลุม เมื่อแก่เกลี้ยง

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อย ๕-๗ ใบ เรียงตรงข้าม รูปรี กว้าง ๖-๙.๕ ซม. ยาว ๙.๕-๑๗.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนกลม ขอบเรียบแผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยงเป็นมันด้านล่างเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๐ เส้น เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ปลายโค้งขึ้นไปหาปลายใบหรือเชื่อมกันกับเส้นแขนงใบที่อยู่ถัดไป เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๖.๕-๑๐.๕ ซม. มีลักษณะเป็นริ้วตามแนวยาว เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย โคนก้านใบป่อง แกนกลางใบยาว ๕-๑๐.๕ ซม. มีลักษณะเป็นริ้ว เกลี้ยง หูใบร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ยาวได้กว่า ๓๐ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๓-๗ ซม. แขนงช่อดอกยาวได้ถึง ๓๐ ซม. ทั้งแกนกลางของช่อดอกและแขนงช่อดอกมีขนสั้นนุ่มประปราย ใบประดับรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑.๑-๑.๓ มม. ด้านนอกมีขนคล้ายไหม ด้านในเกลี้ยง ใบประดับย่อยรูปไข่ กว้าง ๐.๗-๐.๘ มม. ยาว ๑-๑.๕ มม. ด้านนอกมีขนคล้ายไหม ด้านในเกลี้ยง มีใบประดับย่อยที่ปลายก้านดอกติดกับกลีบเลี้ยง รูปไข่ กว้าง ๐.๓-๐.๗ มม. ยาว ๐.๓-๐.๘ มม. ด้านนอกมีขนคล้ายไหม ด้านในเกลี้ยง ใบประดับและใบประดับย่อยร่วงง่าย ก้านดอกยาว ๕-๖ มม. มีขนคล้ายไหม ดอกรูปดอกถั่ว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย สีเขียวอ่อน ด้านนอกมีขนคล้ายไหม ด้านในเกลี้ยง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม ยาว ๐.๕-๐.๘ มม. หรือเห็นไม่ชัด กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาวนวลหรือสีขาวแกมสีเขียวอ่อน กลีบกลางรูปกลมหรือรูปไข่กลับกว้างและยาว ๑.๓-๑.๕ ซม. ปลายกลีบหยักเว้าตื้น บริเวณโคนตรงกลางกลีบมีรอยนูน สีเขียวอ่อน เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ก้านกลีบยาว ๒-๓.๕ มม. กลีบคู่ข้างรูปช้อน เอียงเล็กน้อย กว้าง ๓-๓.๖ มม. ยาว ๐.๙-๑.๑ ซม. ปลายกลีบมน ไม่พบติ่งกลีบ บางครั้งปรากฏรอยพับทางด้านข้างของกลีบ ยาว ๒-๓ มม. เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ก้านกลีบยาว ๑.๕-๒ มม. กลีบคู่ล่างรูปเรือ กว้าง ๔.๕-๕ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. ก้านกลีบยาว ๓-๓.๕ มม. ปลายมน ไม่พบติ่งกลีบ รอยพับทางด้านข้างของกลีบยาว ๔-๔.๕ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร เชื่อมติด ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่ง ๙ เกสร ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันโอบล้อมเกสรเพศเมียไว้ เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๑ เกสร อยู่ทางด้านบนและแยกเป็นอิสระ ก้านชูอับเรณูยาว ๑-๑.๒ ซม. ปลายก้านมีขน อับเรณูกว้าง ๐.๔-๐.๕ มม. ยาว ๑.๕-๒.๘ มม. มีขน จานฐานดอกมีลักษณะเป็นแท่งคล้ายนิ้วมือ มี ๙-๑๐ แท่ง อยู่ระหว่างเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมีย สูง ๐.๗-๐.๘ มม. มีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยาว ๐.๙-๑ ซม. มี ๑ ช่อง มีออวุล ๕-๙ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๕-๖ มม. มีขน ยอดเกสรเพศเมียเล็ก

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปคล้ายแถบยาว แบนมักคอดเว้าระหว่างเมล็ด และมีครีบเล็ก ๆ เฉพาะขอบด้านบน ยาวตลอดความยาวของขอบด้านบนของผล ผลรวมครีบกว้าง ๒.๕-๓.๘ ซม. ยาว ๔.๕-๑๙.๕ ซม. ครีบกว้าง ๒-๔ มม. ผลอ่อนมีขนประปราย เมื่อแก่เกลี้ยงเมล็ดรูปคล้ายไต กว้าง ๘-๙ มม. ยาว ๒.๑-๒.๒ ซม. มี ๑-๔ เมล็ด ขั้วเมล็ดอยู่ถัดจากศูนย์กลางของเมล็ดไปทางด้านบนเล็กน้อย ยาวประมาณ ๒ มม.

 ตังเจ็ดใบมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ มักพบตามป่าดิบชื้นบริเวณริมลำธาร ป่าพรุป่าชายเลน และบริเวณริมชายฝั่งทะเล พบบ้างในป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางถึง ๑๒๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่ศรีลังกา อินเดีย บังกลาเทศภูมิภาคมาเลเซีย จนถึงปาปัวนิวกีนีและออสเตรเลีย

 ประโยชน์ เปลือกต้นมีแทนนิน ใบมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและใบอ่อนรับประทานได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตังเจ็ดใบ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Aganope heptaphylla (L.) Polhill
ชื่อสกุล
Aganope
คำระบุชนิด
heptaphylla
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Polhill, Roger Marcus
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Polhill, Roger Marcus (1937-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ยศเวท สิริจามร