ตะไคร้

Cymbopogon citratus (DC.) Stapf

ชื่ออื่น ๆ
คาหอม (แม่ฮ่องสอน); ไคร (ใต้); จะไคร (เหนือ); เซิดเกรย, เหลอะเกรย (เขมร-สุรินทร์); ห่อวอตะโป่ (กะเหร
ไม้ล้มลุกหลายปีพวกหญ้า มีเหง้าใต้ดิน ลำต้นเทียมตรง ขึ้นเป็นกอแน่น ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบ กาบใบซ้อนกันแน่นเป็นลำต้นเทียม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงเชิงประกอบขนาดใหญ่ ออกที่ยอด สีเขียวอ่อน ช่อแขนงย่อยออกเป็นคู่ แต่ละคู่มีกาบรองรับ กาบรูปแถบแกมรูปใบหอก ช่อดอกย่อยออกเป็นคู่ แบบมีก้านและแบบไร้ก้าน ช่อดอกย่อยแบบไร้ก้าน รูปใบหอกแกมรูปแถบ ดอกย่อยมี ๒ ดอก ดอกล่างเป็นหมัน ดอกบนเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด ขนาดเล็ก

ตะไคร้เป็นไม้ล้มลุกหลายปีพวกหญ้า สูงได้ถึง ๒ ม. มีเหง้าใต้ดิน ลำต้นเทียมตรง เส้นผ่านศูนย์กลางใกล้โคน ๑-๒ ซม. สูง ๓๐-๙๐ ซม. ขึ้นเป็นกอแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบ กว้าง ๐.๕-๒ ซม. ยาว ๓๐-๙๐ ซม. ปลายแหลม โคนเรียวแคบ ขอบบางและคมแผ่นใบมีขนสากทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบจากโคนใบจำนวนมากเรียงขนาน กาบใบซ้อนกันแน่นเป็นลำต้นเทียม ลิ้นใบเป็นเยื่อบาง ยาว ๑-๒ มม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงเชิงประกอบขนาดใหญ่ออกที่ยอด ยาว ๓๐-๖๐ ซม. สีเขียวอ่อน ช่อแขนงย่อยออกเป็นคู่ แต่ละคู่มีกาบรองรับ กาบรูปแถบแกมรูปใบหอก ยาว ๑.๕-๒ ซม. ช่อแขนงย่อยยาวประมาณ ๒ ซม. แต่ละช่อแขนงมีช่อดอกย่อยหลายช่อออกตามแกนกลางย่อย รูปเรียวเล็ก ยาว ๒.๕-๔ มม. มีขนอุยที่ขอบของแกนกลาง ช่อดอกย่อยออกเป็นคู่ แบบมีก้านและแบบไร้ก้าน ช่อดอกย่อยแบบไร้ก้านรูปใบหอกแกมรูปแถบ ยาว ๕-๖ มม. กาบช่อดอกย่อยล่างรูปใบหอก ยาว ๑.๕-๒ มม. ปลายแหลม ด้านหลังเว้าเข้ามาเป็นร่องลึกบริเวณกลางโคนกาบ กาบช่อดอกย่อยบนรูปใบหอก ขนาดเล็กกว่ากาบช่อดอกย่อยล่างเล็กน้อย ปลายแหลม มีสันตามยาว ๑ สัน ดอกย่อยมี ๒ ดอก ดอกล่างเป็นหมัน กาบล่างเป็นเยื่อบาง ขนาดเท่ากับกาบล่างของดอกบนหรือเล็กกว่าเล็กน้อย ไม่มีกาบบน ดอกบนเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กาบล่างรูปใบหอก ยาว ๑.๒-๑.๘ มม. ปลายแหลมหรือหยักเป็นแฉกตื้น ๒ แฉก ไม่มีกาบบน กลีบเกล็ดขนาดเล็ก มี ๒ กลีบ เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูคล้ายเส้นด้ายรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๒ ก้าน ยอดเกสรเพศเมียมีขนยาวนุ่มเป็นพู่ ช่อดอกย่อยแบบมีก้าน ก้านเรียวเล็ก ยาว ๒.๕-๔ มม. มีขนอุยที่ขอบของก้าน ช่อดอกย่อยมีก้าน ยาว ๔-๕ มม. มีส่วนประกอบและรูปร่างคล้ายกับช่อดอกย่อยแบบไร้ก้าน ดอกล่างเป็นหมัน ดอกบนเป็นดอกเพศผู้และส่วนมากไม่มีกาบล่าง

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด ขนาดเล็ก

 ตะไคร้เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ ยังไม่ทราบถิ่นกำเนิดแน่ชัด พบปลูกทั่วไปในประเทศไทยทุกภาคและในประเทศเขตร้อนทั่วโลก มักไม่พบการออกดอกและเป็นผลในประเทศไทย

 ประโยชน์ ทั้งต้นใช้ประกอบอาหารต่าง ๆ และเครื่องดื่ม รักษาอาการแน่นจุกเสียด น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้สามารถต้านหรือยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนังได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะไคร้
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cymbopogon citratus (DC.) Stapf
ชื่อสกุล
Cymbopogon
คำระบุชนิด
citratus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Candolle, Augustin Pyramus de
- Stapf, Otto
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Candolle, Augustin Pyramus de (1778-1841)
- Stapf, Otto (1857-1933)
ชื่ออื่น ๆ
คาหอม (แม่ฮ่องสอน); ไคร (ใต้); จะไคร (เหนือ); เซิดเกรย, เหลอะเกรย (เขมร-สุรินทร์); ห่อวอตะโป่ (กะเหร
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์ และ ผศ. ดร.สราวุธ สังข์แก้ว