ตะโกพนม

Diospyros castanea (Craib) H. R. Fletcher

ชื่ออื่น ๆ
กะละมัก (กาญจนบุรี, ราชบุรี); นางดำ, ลางดำ, หนังดำ, หลังดำ (ตะวันออกเฉียงเหนือ); มะด้ามหมุ่ย, มะดำ,
ไม้ต้น ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไว เปลือกสีเทาถึงสีดำ แตกเป็นสะเก็ด ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กว้างหรือรูปไข่แกมรูปรี ดอกแยกเพศต่างต้น ออกตามกิ่งและซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุก ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกหรือเป็นดอกเดี่ยว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือรูปทรงค่อนข้างกลม เมื่อแห้งแข็งเหมือนไม้ กลีบเลี้ยงขยายใหญ่และติดทน ปลายพับกลับ เมล็ดแข็งรูปไตหรือรูปจันทร์เสี้ยว มีเยื่อหุ้มสีน้ำตาลอ่อน

ตะโกพนมเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไว เปลือกสีเทาถึงสีดำ แตกเป็นสะเก็ด กระพี้สีขาวแกมสีเหลือง แก่นสีน้ำตาลแดงถึงค่อนข้างดำ

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กว้างหรือรูปไข่แกมรูปรีกว้าง ๒.๕-๘ ซม. ยาว ๖-๑๓ ซม. ปลายมน แหลมหรือหยักเว้าตื้น โคนมนกว้างหรือหยักเว้า ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาหรือหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น ปลายเส้นโค้งไปเกือบจดขอบใบแต่ไม่เชื่อมกัน เป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบร่างแหสังเกตเห็นได้ในใบแห้ง ก้านใบยาว ๐.๔-๑ ซม. เกลี้ยง

 ดอกแยกเพศต่างต้น ออกตามกิ่งและซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุก ก้านดอกสั้น ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๓ กลีบ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด สีเขียวอ่อน ยาว ๓-๕ มม. ปลายหยักตื้น ๓ หยัก ด้านนอกมีขนคล้ายเส้นไหม ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ยาว ๑-๑.๒ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด เกลี้ยง ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ส่วนที่แยกยาวเท่ากับส่วนที่ติดกัน มีขนทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ ๑๒-๑๔ เกสร เกลี้ยง รังไข่ที่เป็นหมันเกลี้ยง ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกหรือเป็นดอกเดี่ยว ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายของดอกเพศผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า ไม่มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบทรงรูปไข่ มีขนนุ่มหนาแน่น มี ๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๑ ก้าน มีขนนุ่มยอดเกสรเพศเมียปลายตัด

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือรูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. ผนังผลหนาประมาณ ๒ มม. เกลี้ยงหรืออาจมีขนนุ่มบริเวณโคนผล เมื่อแห้งแข็งเหมือนไม้ กลีบเลี้ยงขยายใหญ่และติดทน ขอบเป็นคลื่น ปลายพับกลับ ก้านผลยาวประมาณ ๕ มม. เมล็ดแข็ง รูปไตหรือรูปจันทร์เสี้ยวมีเยื่อหุ้มสีน้ำตาลอ่อน

 ตะโกพนมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาคยกเว้นภาคใต้ พบตามป่าผลัดใบหรือป่าละเมาะ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๐-๔๐๐ ม.


ส่วนใหญ่ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมในต่างประเทศพบที่ลาวและกัมพูชา

 ประโยชน์ ผลให้น้ำฝาดใช้ย้อมแห อวน และเสื้อผ้า เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างทั่ว ๆ ไป.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะโกพนม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Diospyros castanea (Craib) H. R. Fletcher
ชื่อสกุล
Diospyros
คำระบุชนิด
castanea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
- Fletcher, Harold Roy
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant (1882-1933)
- Fletcher, Harold Roy (1907-1978)
ชื่ออื่น ๆ
กะละมัก (กาญจนบุรี, ราชบุรี); นางดำ, ลางดำ, หนังดำ, หลังดำ (ตะวันออกเฉียงเหนือ); มะด้ามหมุ่ย, มะดำ,
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย