ตะโกจัน

Diospyros hasseltii Zoll.

ชื่ออื่น ๆ
ตะโก (ตะวันออก); ตะโกสวน (กลาง); บาเนง (ใต้)
ไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน ดอกแยกเพศต่างต้น ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุก ออกตามกิ่งและซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกหรือเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม เมื่ออ่อนมีขนสั้นสีน้ำตาลดำค่อนข้างหนาแน่น กลีบเลี้ยงขยายใหญ่ ติดทน และแยกจากกัน ขอบกลีบเป็นคลื่นและขยายใหญ่โอบหุ้มโคนผล เมล็ดแข็ง รูปจันทร์เสี้ยวหรือรูปไต

ตะโกจันเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ ม. เปลือกสีดำ แตกเป็นสะเก็ดทั่วไป กระพี้สีขาวแกมสีเหลือง แก่นสีน้ำตาลคล้ำถึงสีเกือบดำ

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง ๖-๑๓ ซม. ยาว ๑๓-๒๘ ซม. ปลายแหลมหรือหยักคอดเป็นติ่งเรียวแหลม โคนมน ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อยแผ่นใบบางถึงค่อนข้างหนา เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๖ เส้น ปลายเส้นโค้งและเชื่อมต่อกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได ทั้งเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบ และเส้นใบย่อยเป็นร่องทางด้านบนและนูนทางด้านล่าง ก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม. เกลี้ยง

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุก ออกตามกิ่งและซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ ๔ กลีบ กลีบเลี้ยงขอบกลีบแยกตลอดแต่ประสานชิดกันคล้ายรูประฆัง ยาวไม่เกิน ๑ ซม. ค่อนข้างเรียบมีขนสั้นหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น ๔ แฉก ยาวรวมกัน ๑-๑.๕ ซม. มีขนทางด้านนอก ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๑๔-๑๖ เกสร ก้านชูอับเรณูมีขนคล้ายเส้นไหม รังไข่ที่เป็นหมันมีขนแข็งเป็นกระจุก ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกหรือเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ ดอกเพศเมียมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ ๔ กลีบ พบน้อยที่มี ๕ กลีบ ก้านดอกหรือก้านช่อดอกยาว ๑-๒ ซม. มีขนสีดำค่อนข้างหนาแน่น กลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายของดอกเพศผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๔-๑๒ เกสร ก้านชูอับเรณูมีขนยาวคล้ายเส้นไหม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม มีขนยาวคล้ายเส้นไหม มี ๘ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๔ ก้าน มีขนสั้นหนาแน่น

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมกว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. เมื่ออ่อนมีขนสั้นสีน้ำตาลดำค่อนข้างหนาแน่น และจะหลุดร่วงเมื่อผลแก่โคนมนกว้าง ส่วนปลายมนและบุ๋มเล็กน้อย กลีบเลี้ยงขยายใหญ่ ติดทน และแยกจากกัน มีขนสั้นสีดำตามกลีบทั้ง ๒ ด้าน ขอบกลีบเป็นคลื่นและขยายใหญ่โอบหุ้มบริเวณโคนผล ก้านผลยาว ๑-๒ ซม. เมล็ดแข็ง รูปจันทร์เสี้ยวหรือรูปไต มีเยื่อหุ้มสีน้ำตาลอ่อน

 ตะโกจันมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้นใกล้แหล่งน้ำ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ส่วนใหญ่ออกดอกและเป็นผลเดือนเมษายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

 ประโยชน์ ผลใช้ย้อมแห อวน และเสื้อผ้า เนื้อไม้ทำสิ่งปลูกสร้างทั่ว ๆ ไป.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะโกจัน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Diospyros hasseltii Zoll.
ชื่อสกุล
Diospyros
คำระบุชนิด
hasseltii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Zollinger, Heinrich
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1818-1859)
ชื่ออื่น ๆ
ตะโก (ตะวันออก); ตะโกสวน (กลาง); บาเนง (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย