ตะแบกนา

Lagerstroemia floribunda Jack var. floribunda

ชื่ออื่น ๆ
กระแบก (สงขลา); ตราแบกปรี้ (เขมร); ตะแบกไข่ (ราชบุรี, ตราด); บางอตะมะกอ (ยะลา, ปัตตานี); บางอยามู (น
ไม้ต้น เปลือกเรียบ ลอกหลุดเป็นแผ่นบาง ๆ สีนวล ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปรี ใบอ่อนมีขนรูปดาวทางด้านบนและตามเส้นใบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่ง มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นและขนรูปดาวสีน้ำตาล ดอกตูมรูปลูกข่าง มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น มีสันนูนตามยาว ๑๐-๑๒ สัน ดอกแรกบานสีชมพูอ่อนหรือสีม่วงแล้วเปลี่ยนเป็นสีจางลงจนเกือบขาว ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงกระบอกแกมรูปทรงรี มีขนสั้นนุ่มทั่วผลและหนาแน่นบริเวณปลายผล เมล็ดค่อนข้างแบน มีปีก

ตะแบกนาเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๕ ม. เปลือกเรียบ ลอกหลุดเป็นแผ่นบาง ๆ สีนวล กิ่งก้านมีสันคม

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปทรงรี กว้าง ๓-๑๐ ซม. ยาว ๖-๒๓ ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนค่อนข้างกลม ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบอ่อนมีขนรูปดาวทางด้านบนและตามเส้นใบ ใบแก่เกลี้ยงหรือค่อนข้างเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๒ เส้น ก้านใบยาว ๓-๗ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๒๐-๔๐ ซม. รูปทรงกระบอก มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นและขนรูปดาวสีน้ำตาล ก้านดอกยาวประมาณ ๓ มม. ดอกตูมรูปลูกข่าง กว้าง ๖-๗ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น มีสันนูนตามยาว ๑๐-๑๒ สัน ปลายดอกตูมเป็นตุ่มเล็ก ดอกแรกบานสีชมพูอ่อนหรือสีม่วงแล้วเปลี่ยนเป็นสีจางลงจนเกือบขาว กลีบเลี้ยงด้านนอกมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหรือสีสนิมหนาแน่น โคนกลีบเชื่อมติดกับฐานดอกเป็นรูปถ้วยหรือเป็นรูประฆัง กว้าง ๕-๗ มม.


ยาว ๕-๘ มม. ปลายแยกเป็น ๖ แฉก บริเวณปลายแฉกด้านในมีขนสั้นนุ่มรูปดาวสีสนิมหนาแน่นที่บริเวณครึ่งหนึ่งของแฉก กลีบดอก ๖ กลีบ รูปเกือบกลมกว้างและยาว ๐.๗-๑.๓ ซม. ขอบเป็นคลื่น ก้านกลีบดอกยาวประมาณ ๓ มม. ติดที่บริเวณขอบฐานดอกสลับกับแฉกกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูยาวไม่เท่ากัน ติดอยู่โดยรอบภายในฐานดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น มี ๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงกระบอกแกมรูปทรงรี กว้าง ๐.๗-๑.๑ ซม. ยาว ๑.๒-๑.๖ ซม. มีขนสั้นนุ่มทั่วผลและหนาแน่นบริเวณปลายผล ผลแก่แตก ๖ เสี้ยว เมล็ดค่อนข้างแบน มีปีก

 ตะแบกนามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พบตามป่าที่โล่งแจ้งและพบปลูกเป็นไม้ประดับ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่เมียนมามาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะแบกนา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Lagerstroemia floribunda Jack var. floribunda
ชื่อสกุล
Lagerstroemia
คำระบุชนิด
floribunda
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Jack, William
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. floribunda
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1795-1822)
ชื่ออื่น ๆ
กระแบก (สงขลา); ตราแบกปรี้ (เขมร); ตะแบกไข่ (ราชบุรี, ตราด); บางอตะมะกอ (ยะลา, ปัตตานี); บางอยามู (น
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวปาจรีย์ อินทะชุบ