ตะแบกทะเล

Lagerstroemia floribunda Jack var. sublaevis Craib

ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกเรียบเป็นมัน สีเทาหรือสีเทาแกมสีขาว ลอกหลุดเป็นแผ่นค่อนข้างกลม เกิดเป็นหลุมตื้น ๆ ตลอดลำต้น เรือนยอดแผ่กว้างเป็นพุ่มกลม ปลายกิ่งตั้งขึ้น กิ่งอ่อนรูปสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ค่อนข้างโปร่ง ช่อดอกตั้งตรงชี้ขึ้น ออกตามปลายกิ่ง ดอกตูมรูปลูกข่าง ฐานดอกรูปถ้วยมีสันเห็นไม่ชัดหรือมีสันบาง ๆ ๑๒ สัน ดอกเริ่มบานสีชมพูอมม่วงแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อนจนเกือบสีขาวเมื่อใกล้ร่วง ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู คล้ายรูปทรงกระบอก เมล็ดค่อนข้างแบน มีปีก

ตะแบกทะเลเป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๓๐ ม. โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกเรียบเป็นมัน สีเทาหรือสีเทาแกมสีขาว ลอกหลุดเป็นแผ่นค่อนข้างกลม เกิดเป็นหลุมตื้น ๆ ตลอดลำต้น เรือนยอดแผ่กว้างเป็นพุ่มกลม ปลายกิ่งตั้งขึ้น กิ่งอ่อนรูปสี่เหลี่ยม

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่ กว้าง ๓-๑๐ ซม. ยาว ๖-๒๓ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนมนกลม ขอบเรียบ แผ่นใบอ่อนมีขนรูปดาวทั้ง ๒ ด้านและบริเวณเส้นกลางใบ ใบแก่มีขนประปรายหรือเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๒ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๓-๗ มม. ไร้หูใบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ค่อนข้างโปร่ง ช่อดอกตั้งตรงชี้ขึ้น ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๒๐-๔๐ ซม. ช่อแขนงรูปทรงกระบอก มีขนสั้นสีน้ำตาลอมแดงหนานุ่ม ก้านดอกยาวประมาณ ๓ มม. ดอกตูมรูปลูกข่าง โคนสอบเรียว กว้างประมาณ ๗ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนสั้นสีน้ำตาลอมแดงหนานุ่ม ฐานดอกรูปถ้วยมีสันเห็นไม่ชัดหรือมีสันบาง ๆ ๑๒ สัน ปลายดอกตูมเป็นตุ่มเล็ก สูงประมาณ ๑ มม. ดอกเริ่มบานสีชมพูอมม่วงแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อนจนเกือบสีขาวเมื่อใกล้ร่วง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกับฐานดอกรูปถ้วยคล้ายรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๖ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยม ยาว ๓-๔ มม. ปลายแหลม แผ่กว้าง ด้านในมีขนรูปดาวและขนสั้นสีน้ำตาลอมแดงเข้มหนานุ่มปกคลุมครึ่งหนึ่งของแฉกกลีบเลี้ยง กลีบดอก ๖ กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง ๐.๗-๑.๒ ซม. ยาว ๑-๑.๖ ซม. กลีบดอกยับย่น ขอบเป็นคลื่น ก้านกลีบดอกยาว ๒-๕ มม. ติดที่บริเวณขอบฐานดอก เรียงสลับกับแฉกกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ติดที่ด้านในของฐานดอกรูปถ้วย เรียงเป็น ๒ วง เกสรวงนอก ๖-๗ เกสร มีก้านชูอับเรณูใหญ่และยาวกว่าเกสรวงใน ก้านชูอับเรณูสีชมพูอมแดง อับเรณูสีดำ เกสรวงในจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูสีเหลืองอมเขียว ปลายสีชมพูอ่อน สั้นกว่าเกสรวงนอก อับเรณูสีเหลือง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลม มีขนรูปดาวและขนสั้นสีน้ำตาลอมแดงหนานุ่ม มี ๕-๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู คล้ายรูปทรงกระบอก กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑.๒-๑.๖ ซม. ปลายมน มีติ่งเล็ก มีขนสั้นหนานุ่มตลอดผลและหนาแน่นบริเวณปลายผล ผนังผลแข็ง เป็นมัน ผลแห้งแตก ๕-๖ เสี้ยว สีน้ำตาลเข้มเกือบสีดำ เมล็ดค่อนข้างแบน มีปีก

 ตะแบกทะเลเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบ บริเวณริมฝั่งน้ำและป่าละเมาะที่เปิดโล่ง ที่สูงใกล้ระดับทะเลปานกลาง ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม

 ประโยชน์ ตะแบกทะเลเป็นไม้โตเร็ว มีทรงพุ่มและดอกที่สวยงามจึงนำมาปลูกเป็นไม้ฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม นอกจากนี้ เนื้อไม้ยังมีความแข็งปานกลางจึงนำมาทำด้ามเครื่องมือทางการเกษตรได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะแบกทะเล
ชื่อวิทยาศาสตร์
Lagerstroemia floribunda Jack var. sublaevis Craib
ชื่อสกุล
Lagerstroemia
คำระบุชนิด
floribunda
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Jack, William
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. sublaevis
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- Craib
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1795-1822)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวปาจรีย์ อินทะชุบ