ตะเคียนเต็ง

Shorea thorelii Pierre ex Laness.

ชื่ออื่น ๆ
ชัน, ชันขาว, ชันตก (ตะวันออกเฉียงใต้); ซี (นครพนม); ด่าง (น่าน); ตานี, ยางแกน, ยางหิ้ง, ยางหยวก (เหน
ไม้ต้นขนาดใหญ่ เปลือกแตกเป็นสะเก็ด โคนต้นมีพูพอน ตายอดรูปไข่ ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงชั้นเดียว ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกสีขาวนวลอมเหลือง ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว ทรงรูปไข่กว้าง มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายเป็นปีก ๕ ปีก รูปใบพาย โคนหนาเป็นถุง ปีกยาว ๓ ปีก ปีกสั้น ๒ ปีก ผลมีขนสั้นนุ่ม เมล็ดรูปคล้ายผล

ตะเคียนเต็งเป็นไม้ต้น สูง ๒๐-๔๐ ม. เปลือกแตกเป็นสะเก็ด โคนต้นมีพูพอน กิ่งอ่อนมีขนสั้นละเอียดประปราย กิ่งแก่เกลี้ยง ตายอดรูปไข่ ยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขนสั้นละเอียด

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๒.๓-๗ ซม. ยาว ๕-๑๒ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่มกว้างถึงกลม แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีสีน้ำตาลอมเขียวและมีขนประปรายเส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๕ เส้น โค้งจดขอบใบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันไดถี่ เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. หูใบรูปใบหอกหรือรูปเคียว ยาว ๗-๙ มม. มีขนสั้นละเอียด

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงชั้นเดียว ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง มีขนสั้นนุ่มเป็นกระจุก ทั้งช่อยาว ๕-๑๐ ซม. ช่อแขนงยาว ๑.๕-๓.๕ ซม. ช่อย่อยมี ๔-๖ ดอก เรียงด้านเดียว ดอกตูมรูปไข่แกมรูปขอบขนานยาว ๐.๕-๑ ซม. ก้านดอกหนา ยาวประมาณ ๑ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ เรียงซ้อนเหลื่อม ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มละเอียด กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. กลีบนอก ๓ กลีบ เรียวแคบและยาวกว่ากลีบใน ๒ กลีบเล็กน้อย กลีบดอกสีขาวนวลอมเหลือง โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก บิดเวียน รูปไข่แกมรูปใบหอก กว้างประมาณ ๐.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ปลายมน ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม เกสรเพศผู้ ๓๐-๔๐ เกสร เรียง ๒-๓ ชั้น ชั้นในยาวกว่าชั้นนอกเล็กน้อยก้านชูอับเรณูยาว ๑-๒ มม. โคนแผ่กว้าง เกลี้ยง อับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ มม. มี ๔ พู ปลายมีรยางค์รูปเส้นด้าย โค้งออก ยาวกว่าอับเรณูเล็กน้อย มีขนแผง ๒-๕ เส้น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกรวย ยาวประมาณ ๓ มม. มีขนสั้นนุ่ม มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น มีขนช่วงโคน ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๓ พู เห็นไม่ชัดเจน

 ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว ทรงรูปไข่กว้างเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม ยาวประมาณ ๕ มม. มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายเป็นปีก ๕ ปีก รูปใบพาย ขนาดไม่เท่ากัน โคนหนาเป็นถุง มีขนสั้นนุ่ม ปีกยาว ๓ ปีก กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๓.๕-๗ ซม. มีเส้นปีก ๗-๙ เส้น ปีกสั้น ๒ ปีก กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๒.๕-๓.๕ ซม. มีเส้นปีกประมาณ ๕ เส้น ก้านผลหนา ยาวประมาณ ๑ มม. ผลมีขนสั้นนุ่ม เมล็ดรูปคล้ายผล

 ตะเคียนเต็งมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยแทบทุกภาคยกเว้นภาคกลาง พบขึ้นในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมเป็นผลเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

 ประโยชน์ เนื้อไม้มีความแข็งแรงทนทาน ใช้ก่อสร้างทั่วไป.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะเคียนเต็ง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Shorea thorelii Pierre ex Laness.
ชื่อสกุล
Shorea
คำระบุชนิด
thorelii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Pierre, Jean Baptiste Louis
- Lanessan, Jean Marie Antoine de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Pierre, Jean Baptiste Louis (1833-1905)
- Lanessan, Jean Marie Antoine de (1843-1919)
ชื่ออื่น ๆ
ชัน, ชันขาว, ชันตก (ตะวันออกเฉียงใต้); ซี (นครพนม); ด่าง (น่าน); ตานี, ยางแกน, ยางหิ้ง, ยางหยวก (เหน
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ราชันย์ ภู่มา