ตะเคียนเขา

Hopea griffithii Kurz

ชื่ออื่น ๆ
เคียนราก, ตะเคียนราก (สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช); มะตะกูจิง (มลายู-ปัตตานี); ไสน (ตรัง)
ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ โคนมีพูพอนและรากค้ำ เปลือกในมีชันใส ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปไข่ หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ เส้นแขนงใบแบบเส้นใบแซม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ดอกสีแดงเข้ม ปลายแกนอับเรณูมีรยางค์ รังไข่มีโคนก้านยอดเกสรเพศเมียคอดกลางรูปคล้ายนาฬิกาทราย ผลแบบผลเปลือกแข็ง ทรงรูปไข่กว้าง กลีบเลี้ยงติดทนขยายเป็นปีก ๕ ปีก ปีกยาว ๒ ปีก รูปใบพาย ปีกสั้น ๓ ปีก รูปไข่ เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

ตะเคียนเขาเป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๓๐ ม. โคนมีพูพอนและรากค้ำ เปลือกเรียบแล้วแตกเป็นสะเก็ด เปลือกในมีชันใส กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มประปราย กิ่งแก่เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปไข่ หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง ๑.๕-๔ มม. ยาว ๕-๙ ซม. ปลายแหลมยาวกึ่งคล้ายหาง ยาวได้ถึง ๑.๕ ซม. โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ ม้วนเข้าเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนา เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีเขียวอ่อน เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบแบบเส้นใบแซม เส้นใบหลักข้างละ ๙-๑๔ เส้น มีเส้นแขนงใบแซมระหว่างเส้นใบหลัก ไม่มีตุ่มใบ มีเส้นใบรองประปราย เส้นใบย่อยแบบร่างแหกึ่งขั้นบันได ก้านใบยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. เกลี้ยงหรือมีขนประปราย หูใบรูปแถบ ยาวประมาณ ๒ มม. มีขนสั้นนุ่ม

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ยาว ๒-๓ ซม. เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย ช่อดอกย่อยยาวประมาณ ๑ ซม. ดอกเรียงด้านเดียว ๒-๕ ดอก ใบประดับและใบประดับย่อยขนาดเล็ก ร่วงง่าย ดอกตูมรูปทรงรี กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ มม. ดอกสีแดงเข้ม กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีเขียวอ่อน รูปไข่กว้าง กว้าง ๑-๑.๓ มม. ยาว ๑-๑.๕ มม. ปลายแหลม เรียงซ้อนเหลื่อมเป็น ๒ วง กลีบวงนอก ๒ กลีบ กว้างและยาวกว่ากลีบวงใน ๓ กลีบเล็กน้อย เกลี้ยง บางครั้งขอบมีขนครุย กลีบดอก ๕ กลีบ รูปใบหอกแกมรูปเคียว กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๓-๔ มม. เกสรเพศผู้ ๑๕ เกสร เรียงเป็น ๓ วง ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๔-๐.๖ มม. ช่วงโคนแผ่ขยาย ปลายแกนอับเรณูมีรยางค์ ยาว ๒-๒.๕ เท่าของอับเรณู อับเรณูรูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๒ มม. ติดที่ฐาน แตกตามยาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องส่วนมากมีออวุล ๒ เม็ด โคนก้านยอดเกสรเพศเมียคอดกลางรูปคล้ายนาฬิกาทราย ยาว ๑-๑.๕ มม. (รวมรังไข่) ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๐.๓-๐.๔ มม. มีปุ่มเล็กกระจายทั่วไป ยอดเกสรเพศเมียขนาดเล็ก

 ผลแบบผลเปลือกแข็ง ทรงรูปไข่กว้าง กว้าง ๕-๗ มม. ยาว ๕-๙ มม. เกลี้ยง ปลายมีติ่งแหลมทู่


ยาว ๐.๖-๑ มม. ก้านผลยาว ๑-๒ มม. กลีบเลี้ยงติดทนขยายเป็นปีก ๕ ปีก ปีกยาว ๒ ปีก รูปใบพาย กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๔.๕-๗ ซม. สีแดงอมชมพู ปีกสั้น ๓ ปีก รูปไข่ กว้าง ๓-๗ มม. ยาว ๐.๕-๑.๓ ซม. ปลายเรียว ยาวได้ถึง ๕ มม. เกลี้ยง เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 ตะเคียนเขามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐-๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนกันยายนถึงธันวาคม เป็นผลเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมาทางตอนใต้ คาบสมุทรมาเลเซีย และบอร์เนียว

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะเคียนเขา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hopea griffithii Kurz
ชื่อสกุล
Hopea
คำระบุชนิด
griffithii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1878)
ชื่ออื่น ๆ
เคียนราก, ตะเคียนราก (สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช); มะตะกูจิง (มลายู-ปัตตานี); ไสน (ตรัง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ราชันย์ ภู่มา