ตะเคียนทอง

Hopea odorata Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
เคียน, ตะเคียน (ทั่วไป); แคน (ชัยภูมิ, เพชรบูรณ์); ตะเคียนชันขาว (จันทบุรี); จืองา (มลายู-ปัตตานี, น
ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ โคนต้นมีพูพอน เปลือกแตกเป็นสะเก็ด ตายอดรูปไข่ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก มีตุ่มใบเป็นรู ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ๒ ชั้น ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่งดอกสีขาวนวล ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว ทรงรูปไข่กว้างหรือรูปทรงค่อนข้างกลม มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายเป็นปีก ๕ ปีก ปีกยาว ๒ ปีก รูปใบพาย ปีกสั้น ๓ ปีก รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ผลเกลี้ยงหรือมีเกล็ดรังแคประปราย เมล็ดรูปคล้ายผล

ตะเคียนทองเป็นไม้ต้น สูง ๒๐-๔๐ ม. โคนต้นมีพูพอน เปลือกแตกเป็นสะเก็ด กิ่งมีช่องอากาศประปรายตายอดรูปไข่ ขนาดเล็ก มีขนเป็นกระจุกสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง หรือเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง ๒.๕-๖.๕ ซม. ยาว ๕-๑๔ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือรูปลิ่มกว้าง เบี้ยวเล็กน้อยแผ่นใบเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๒ เส้น โค้งจดกันใกล้ขอบใบ มีตุ่มใบเป็นรู เกลี้ยง เส้นใบย่อยแบบขั้นบันไดถี่ เส้นกลางใบนูนเล็กน้อยทางด้านบน ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม. หูใบรูปแถบ ยาวประมาณ ๒ มม. มีขนเป็นกระจุกสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ๒ ชั้น ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ทั้งช่อยาว ๓-๑๐ ซม. ช่อแขนงยาว ๑-๓ ซม. ช่อย่อยมีดอก ๔-๑๐ ดอก เรียงด้านเดียว ดอกตูมรูปไข่ ยาว ๔-๕ มม. ก้านดอกยาว ๐.๕-๑.๒ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม ด้านนอกมีขนเป็นกระจุกสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงประปราย กลีบรูปไข่ กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๒-๓ มม. ขอบมีขนครุย กลีบดอกสีขาวนวล โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก บิดเวียน แฉกนอก ๒ แฉก กว้างกว่าแฉกใน ๓ แฉกเล็กน้อย รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๒-๓ มม. ขอบหยักปลายมน เกสรเพศผู้ ๑๕ เกสร เกลี้ยง ก้านชูอับเรณูยาว


ประมาณ ๐.๕ มม. โคนแผ่กว้าง อับเรณูรูปทรงรี ยาวประมาณ ๐.๕ มม. มี ๔ พู ปลายมีรยางค์ยาวเท่ากับอับเรณู รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด

ฐานก้านยอดเกสรเพศเมียรูปไข่ ยาว ๑.๒-๒.๓ มม. เกลี้ยง มีจุดโปร่งใสประปราย ก้านยอดเกสรเพศเมียหนายาวเท่ากับรังไข่ ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๓ พู เห็นไม่ชัด

 ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว ทรงรูปไข่กว้างหรือรูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๘ มม. ปลายเป็นติ่งแหลมสั้น ๆ ยาวประมาณ ๒ มม. มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายเป็นปีก ๕ ปีก ปีกยาว ๒ ปีก รูปใบพายกว้าง ๐.๗-๒ ซม. ยาว ๓-๖ ซม. มีเส้นปีก ๗-๑๑ เส้น มีขนสั้นนุ่มประปราย ปีกสั้น ๓ ปีก รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๓ มม. ยาว ๕-๗ มม. มีขนเป็นกระจุกสั้นนุ่มประปรายโดยเฉพาะที่โคน ก้านผลหนายาวประมาณ ๑ มม. ผลเกลี้ยงหรือมีเกล็ดรังแค เมล็ดรูปคล้ายผล

 ตะเคียนทองมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น หรือป่าเบญจพรรณใกล้ลำธาร บางครั้งพบตามป่าชายหาดและป่าพรุทางภาคใต้ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๙๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงธันวาคมเป็นผลเดือนมกราคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู

 ประโยชน์ เนื้อไม้มีความแข็งแรงทนทาน ใช้ก่อสร้างที่ต้องการความคงทน ใช้ทำเรือขุด ชันมีคุณภาพปานกลาง ใช้ในอุตสาหกรรมบางประเภท เปลือกมีแทนนินสูง ใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนังสัตว์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะเคียนทอง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hopea odorata Roxb.
ชื่อสกุล
Hopea
คำระบุชนิด
odorata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
เคียน, ตะเคียน (ทั่วไป); แคน (ชัยภูมิ, เพชรบูรณ์); ตะเคียนชันขาว (จันทบุรี); จืองา (มลายู-ปัตตานี, น
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ราชันย์ ภู่มา