ตะลุมพุก

Tamilnadia uliginosa (Retz.) Tirveng. et Sastre

ชื่ออื่น ๆ
กระลำพุก (กลาง, ตะวันตกเฉียงใต้); มอกน้ำข้าว, มะข้าว (เหนือ); มะคัง (อุตรดิตถ์); มะคังขาว (กลาง, ตะว
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น เปลือกสีน้ำตาลอมแดง กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ปลายกิ่งมีหนามเป็นกระจุก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ออกชิดกันเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง รูปไข่กลับ ช่อดอกลดรูปเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ มีทั้งแบบดอกสมบูรณ์เพศและแบบแยกเพศ ดอกคล้ายรูปวงล้อ สีขาว มีกลิ่นหอมผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ผนังหนา ทรงรูปไข่หรือทรงรูปไข่กลับ เมล็ดจำนวนมาก รูปกลมแบน เรียบ

ตะลุมพุกเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๐ ม. เปลือกสีน้ำตาลอมแดง กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ปลายกิ่งมีหนามเป็นกระจุก กระจุกละ ๒-๔ อัน หนามยาว ๐.๕-๑.๕ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ออกชิดกันเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง รูปไข่กลับ กว้าง ๕-๑๐ ซม. ยาว ๘-๒๒ ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มประปราย เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๗ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๕-๗ มม. ยาว ๓-๕ มม. ปลายเรียวแหลม

 ช่อดอกลดรูปเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ มีทั้งแบบดอกสมบูรณ์เพศและแบบแยกเพศ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ ซม. ดอกสมบูรณ์เพศมีก้านดอกยาว ๐.๕-๒ ซม. ดอกคล้ายรูปวงล้อ สีขาว มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน ยาว ๑-๑.๒ ซม. ปลายแยก ๕-๘ แฉก กว้าง ๖-๗ มม. ยาว ๓-๔ มม. รูปค่อนข้างกลม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย มีขนบริเวณปากหลอดดอกปลายหลอดแยกเป็น ๕-๘ แฉก รูปค่อนข้างกลม กว้างและยาว ๑-๒ ซม. เมื่อบานแฉกบิดเวียน เกสรเพศผู้ ๕-๘ เกสร ติดที่คอหลอดดอก อับเรณูสีเหลือง ไร้ก้าน ยาว ๐.๘-๑ ซม. กางออกและแนบกับแฉกกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสีขาว ยอดเกสรเพศเมียสีเหลืองอมส้มแยกเป็น ๒ แฉก รูปกระบอง ในดอกแยกเพศจะมีดอกเพศเมียขนาดใหญ่ ก้านดอกสั้น ดอกเพศผู้ขนาดเล็ก ก้านดอกยาวได้ถึง ๒ ซม.

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ผนังหนาทรงรูปไข่หรือทรงรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๕-๙ ซม. ผลอ่อนสีเขียว สุกสีเหลือง กลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดจำนวนมาก รูปกลมแบน เรียบ

 ตะลุมพุกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้พบขึ้นตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน

 ประโยชน์ ผลสุกรับประทานได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะลุมพุก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tamilnadia uliginosa (Retz.) Tirveng. et Sastre
ชื่อสกุล
Tamilnadia
คำระบุชนิด
uliginosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Retzius, Anders Jahan
- Tirvengadum, Deva D.
- Sastre, Claude Henri Léon
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Retzius, Anders Jahan (1742-1821)
- Tirvengadum, Deva D. (fl. 1986)
- Sastre, Claude Henri Léon (1938-)
ชื่ออื่น ๆ
กระลำพุก (กลาง, ตะวันตกเฉียงใต้); มอกน้ำข้าว, มะข้าว (เหนือ); มะคัง (อุตรดิตถ์); มะคังขาว (กลาง, ตะว
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายวิทวัส เขียวบาง