ตะพิดกาบแข็ง

Sauromatum horsfieldii Miq.

ไม้ล้มลุกหลายปี มีช่วงพักตัว ลำต้นใต้ดินเป็นหัว รูปทรงค่อนข้างกลมหรือรูปทรงกลมแป้น ใบเดี่ยว มี ๑-๓ ใบ รูปคล้ายมือ มี ๗-๑๓ แฉก ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกจากหัวชูเหนือดิน มี ๑ ช่อ เกิดพร้อมออกใบหรือเกิดก่อนออกใบ กาบช่อดอกส่วนโคนม้วนตามยาวเป็นทรงรูปไข่ แผ่นกาบช่อดอกรูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ลักษณะคล้ายเรือ ด้านนอกสีเขียวอ่อน สีเขียว หรือสีน้ำตาลอ่อน อาจมีรอยแต้มเป็นจุดเห็นไม่ชัด ด้านในสีขาวหรือสีเขียวอ่อน อาจมีรอยแต้มเป็นจุดสีม่วงอมดำกระจาย ระหว่างส่วนโคนกับแผ่นกาบช่อดอกมีรอยคอด ช่อดอกสั้นกว่ากาบช่อดอก ดอกแยกเพศร่วมช่อ ไร้กลีบรวม ส่วนบนสุดมีรยางค์รูปทรงกระบอก พบน้อยที่เป็นรูปกระสวย สีขาวนวล พบน้อยที่สีน้ำตาลอมเทาอ่อน มีรอยแต้มเป็นจุดสีม่วง โคนรยางค์มีก้านหรือเกือบไร้ก้าน ถัดลงมาเป็นช่วงดอกเพศผู้ ตามด้วยช่วงดอกที่เป็นหมัน มี ๒ ส่วน ส่วนบนมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเชื่อมกันเป็นสันแนวตั้ง ส่วนล่างมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดหรือรูปเรียวแหลมคล้ายเข็มถึงรูปกระบอง โคนช่อดอกเป็นช่วงดอกเพศเมีย ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่กลับถึงรูปทรงรี

ตะพิดกาบแข็งเป็นไม้ล้มลุกหลายปี มีช่วงพักตัว ลำต้นใต้ดินเป็นหัว รูปทรงค่อนข้างกลมหรือรูปทรงกลมแป้น

 ใบเดี่ยว ออกที่ปลายหัวใต้ดิน มี ๑-๓ ใบ รูปคล้ายมือ เป็นแฉกเว้าลึกเกือบถึงโคนใบ มี ๗-๑๓ แฉก รูปรีถึงรูปใบหอก ปลายแฉกแหลมหรือเรียวแหลม ขอบเว้าเป็นคลื่น เรียบ หรือบางครั้งหยักมน มีเส้นแขนงใบข้างละหลายเส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไป เส้นใบย่อยแบบร่างแห แผ่นใบด้านบนสีเขียวถึงสีเขียวเข้ม เส้นกลางแฉกอาจมีสีแดงเรื่อหรือมีรอยแต้มเป็นจุดสีเหลืองทอง แผ่นใบด้านล่างสีจางกว่าถึงสีเขียวอมเทา อาจมีรอยแต้มเป็นจุดสีม่วงอมแดงกระจาย ก้านใบยาว ๓-๖๐ ซม. สีมีการแปรผัน สีเขียวถึงสีม่วง อาจมีรอยแต้มเป็นลายหรือจุด

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกจากหัวชูเหนือดิน มี ๑ ช่อ เกิดพร้อมออกใบหรือเกิดก่อนออกใบ กาบช่อดอกส่วนโคนม้วนตามยาวเป็นทรงรูปไข่ บางครั้งเป็นสัน ๑-๓ สัน ด้านนอกสีเขียวอ่อน สีเขียว หรือสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลเข้ม อาจมีรอยแต้มเป็นจุดหรือลายสีแดงเรื่อหรือสีน้ำตาลอมดำ ด้านในสีขาวหรือสีเขียวอ่อนอมขาว แผ่นกาบช่อดอกรูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ลักษณะคล้ายเรือ กว้าง ๔-๖ ซม. ยาว ๖-๑๗ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงยาวคล้ายหาง พบบ่อยที่เส้นกลางแผ่นกาบช่อดอกเป็นสัน ด้านนอกสีเขียวอ่อน สีเขียว หรือสีน้ำตาลอ่อน อาจมีรอยแต้มเป็นจุดเห็นไม่ชัด ด้านในสีขาวหรือสีเขียวอ่อน อาจมีรอยแต้มเป็นจุดสีม่วงอมดำกระจาย ระหว่างส่วนโคนกับแผ่นกาบช่อดอกมีรอยคอด ก้านช่อดอกยาว ๒-๒๐ ซม. ช่อดอกสั้นกว่ากาบช่อดอก ดอกแยกเพศร่วมช่อ ไร้กลีบรวม ส่วนบนสุดมีรยางค์รูปทรงกระบอก พบน้อยที่เป็นรูปกระสวย เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๖ มม. ยาว ๑.๕-๔.๕ ซม. ปลายมน สีขาวนวล พบ


น้อยที่มีสีน้ำตาลอมเทาอ่อน มีรอยแต้มเป็นจุดสีม่วง ผิวเรียบหรือเป็นลูกฟูก โคนรยางค์มีก้านหรือเกือบไร้ก้าน ถัดลงมาเป็นช่วงดอกเพศผู้ รูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๗ มม. ยาว ๐.๖-๑ ซม. มีดอกจำนวนมากเรียงกันแน่นรอบแกนช่อ สีขาว ดอกที่อยู่ส่วนบนพบบ่อยที่เป็นหมัน คล้ายรูปกระบองถึงรูปช้อน ดอกเพศผู้ที่สมบูรณ์รูปร่างแตกต่างจากดอกที่เป็นหมัน เกสรเพศผู้ ๑-๓ เกสร ถัดลงมาเป็นช่วงดอกที่เป็นหมัน รูปกรวยแกมรูปกระสวยแคบ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๗ มม. ยาว ๒-๖ ซม. มี ๒ ส่วน ส่วนบนมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเชื่อมติดกันเป็นสันแนวตั้ง สีขาว ส่วนล่างมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดหรือรูปเรียวแหลมคล้ายเข็มถึงรูปกระบอง สีขาวถึงสีเหลือง โค้งขึ้นบนหรือตรง โคนเป็นช่วงดอกเพศเมีย รูปทรงกระบอกหรือคล้ายรูปกรวย เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๘ มม. ยาว ๐.๒-๑ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ถึงทรงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน

มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑-๒ เม็ด ไร้ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียเล็กมาก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่กลับถึงรูปทรงรี ผลแก่สีเขียวอ่อน เป็นลูกฟูกหรือเป็นร่องตื้น

 ตะพิดกาบแข็งมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบ ป่าผลัดใบ ทุ่งหญ้า เขาหินแกรนิต และเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๗๐๐-๑,๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย (อัสสัม) เมียนมา จีน ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมาเลเซีย และอินโดนีเซีย (สุมาตรา ชวา และหมู่เกาะซุนดาน้อย).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะพิดกาบแข็ง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Sauromatum horsfieldii Miq.
ชื่อสกุล
Sauromatum
คำระบุชนิด
horsfieldii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1811-1871)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย และนางสาวมณทิรา เกษมสุข