ตะพิดกาบยาว

Typhonium flagelliforme (Roxb. ex G. Lodd.) Blume

ไม้ล้มลุก ลำต้นใต้ดินเป็นหัวค่อนข้างแป้น ใบเดี่ยว มี ๒-๖ ใบ รูปแถบ รูปใบหอก รูปรี หรือรูปไข่ โคนเว้ารูปหัวใจ รูปติ่งหู รูปเงี่ยงใบหอก หรือรูปลิ่ม ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกจากหัวชูเหนือดินชิดโคนก้านใบ มี ๑ ช่อ กาบช่อดอกส่วนโคนม้วนเป็นหลอดทรงรูปไข่ รูปทรงกลม หรือรูปทรงกลมแป้น ด้านนอกสีเขียว เป็นสันตามยาว ๑ ถึงหลายสัน แผ่นกาบช่อดอกโคนม้วนเป็นหลอด ส่วนบนผายเป็นรูปใบหอก โค้งลงตามแนวนอน ปลายเรียวแหลมยาว สีเขียวหรือสีเขียวแกมสีม่วงอมแดงทั้ง ๒ ด้าน ระหว่างส่วนโคนและแผ่นกาบช่อดอกมีรอยคอด ช่อดอกสั้นกว่า ยาวเท่ากับ หรือยาวกว่ากาบช่อดอกเล็กน้อย ดอกแยกเพศร่วมช่อ ไร้กลีบรวม ส่วนบนสุดมีรยางค์สีเขียวอ่อน พบบ่อยที่เป็นร่องลึก ช่วงปลายเรียวคล้ายเส้นด้าย ตั้งหรือโค้งลง ถัดลงมาเป็นช่วงดอกเพศผู้ เกสรเพศผู้สีเหลือง ถัดลงมาเป็นช่วงดอกที่เป็นหมัน มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันแบบทวิสัณฐาน ช่วงโคนมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน โคนสีขาว ปลายโค้งขึ้นเป็นรูปลิ้นแกมรูปช้อน อาจมีสีม่วงอมแดง ถัดขึ้นไปมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันสีขาว รูปลิ่ม ปลายเรียวแหลม โค้งลง ส่วนโคนช่อดอกเป็นช่วงดอกเพศเมีย กึ่งรูปทรงกระบอกหรือคล้ายรูปกระสวย ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีเขียวอ่อน มีเมล็ด ๒-๓ เมล็ด

ตะพิดกาบยาวเป็นไม้ล้มลุก ส่วนที่อยู่เหนือดินสูงได้ถึง ๔๐ ซม. ลำต้นใต้ดินเป็นหัวค่อนข้างแป้น ยาว ๑-๒ ซม.

 ใบเดี่ยว มี ๒-๖ ใบ รูปร่างแปรผันมาก รูปแถบ รูปใบหอก รูปรี หรือรูปไข่ กว้าง ๐.๕-๑๘ ซม. ยาว ๕-๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเว้ารูปหัวใจ รูปติ่งหู รูปเงี่ยงใบหอก หรือรูปลิ่ม ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบด้านบนสีเขียว พบน้อยที่มีรอยด่าง ด้านล่างสีอ่อนกว่า เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๗ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๑๕-๓๐ ซม. สีเขียว

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกจากหัวชูเหนือดินชิดโคนก้านใบ มี ๑ ช่อ กาบช่อดอกยาว ๑๕-๓๐ ซม. ส่วนโคนม้วนเป็นหลอดทรงรูปไข่ รูปทรงกลม หรือรูปทรงกลมแป้น กว้าง ๑.๒-๒ ซม. ยาว ๑.๕-๓.๕ ซม. ด้านนอกสีเขียว มีสันตามยาว ๑ ถึงหลายสัน แผ่นกาบช่อดอกโคนม้วนเป็นหลอด ส่วนบนผายเป็นรูปใบหอก ยาว ๗.๕-๒๕ ซม. โค้งลงตามแนวนอน ปลายเรียวแหลมยาว สีเขียวหรือสีเขียวแกมสีม่วงอมแดงทั้ง ๒ ด้าน ระหว่างส่วนโคนกับแผ่นกาบช่อดอกมีรอยคอด ก้านช่อดอกยาว ๕-๒๐ ซม. ช่อดอกสั้นกว่า ยาวเท่ากับ หรือยาวกว่ากาบช่อดอกเล็กน้อย ดอกแยกเพศร่วมช่อ ไร้กลีบรวม ส่วนบนสุดมีรยางค์สีเขียวอ่อน ยาว ๑๖-๑๗ ซม. โคนป่อง พบบ่อยที่เป็นร่องลึก ช่วงปลายเรียวคล้ายเส้นด้าย ตั้งหรือโค้งลง ถัดลงมาเป็นช่วงดอกเพศผู้ ยาวประมาณ ๕ มม. มีดอกจำนวนมากเรียงชิดกันแน่นรอบแกนช่อ เกสรเพศผู้ ๑-๓ เกสร สีเหลือง ก้านชูอับเรณูสั้นมาก ถัดลงมาเป็นช่วงดอกที่เป็นหมัน ยาว ๑-๒ ซม. มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันจำนวนมากเรียงห่างกันรอบแกนช่อ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันแบบทวิสัณฐาน ช่วงโคนยาวประมาณ ๖ มม. มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันโคนสีขาว ปลายโค้งขึ้นเป็นรูปลิ้นแกมรูปช้อน อาจมีสีม่วงอมแดง ถัดขึ้นไปมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันสีขาว รูปลิ่ม ปลายเรียวแหลม โค้งลง ส่วนโคนช่อดอกเป็นช่วงดอกเพศเมีย กึ่งรูปทรงกระบอกหรือคล้ายรูปกระสวย กว้าง ๐.๘-๑ ซม. ยาว ๑.๕-๑.๘ ซม.มีดอกจำนวนมากเรียงชิดกันแน่นรอบแกนช่อ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ สีเขียวอ่อน เป็นสัน มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒-๓ เม็ด ไร้ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียรูปครึ่งทรงกลมแกมรูปคล้ายจาน

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีเขียวอ่อน มีเมล็ด ๒-๓ เมล็ด

 ตะพิดกาบยาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พบตามที่รกร้าง ในลำธารที่มีน้ำตื้น แหล่งน้ำ ชายทุ่ง ทุ่งหญ้าที่ชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนเมษายนถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย (อัสสัม) หมู่เกาะอันดามัน ศรีลังกา บังกลาเทศ เมียนมา จีน กัมพูชา เวียดนาม คาบสมุทรมาเลเซีย เกาะชวา หมู่เกาะซุนดาน้อย เกาะนิวกินี และควีนส์แลนด์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะพิดกาบยาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Typhonium flagelliforme (Roxb. ex G. Lodd.) Blume
ชื่อสกุล
Typhonium
คำระบุชนิด
flagelliforme
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Loddiges, George
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Loddiges, George (1784-1846)
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von (1796-1862)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย และนางสาวมณทิรา เกษมสุข