ตะพิด

Typhonium varians Hett. et Sookch.

ไม้ล้มลุก ลำต้นใต้ดินเป็นหัวค่อนข้างแป้น ใบเดี่ยว มี ๑-๓ ใบ รูปสามเหลี่ยมกว้าง ปลายเว้าเป็น ๓ หรือ ๕ แฉก แฉกกลางรูปไข่กว้าง แฉกข้างรูปไข่ รูปรีแคบ หรือรูปสามเหลี่ยม ไม่สมมาตร แผ่นใบด้านบนสีเขียว เฉพาะเส้นกลางใบสีขาว หรือเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบ และเส้นใบย่อยสีขาว อาจมีแต้มสีม่วงอมแดงเข้มอยู่ระหว่างเส้นแขนงใบ ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกจากหัวชูเหนือดิน มี ๑ ช่อ เกิดหลังจากออกใบ กาบช่อดอกส่วนโคนม้วนเป็นหลอดทรงรูปไข่ ด้านนอกสีเขียว เป็นมัน แผ่นกาบช่อดอกรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม โค้งลงตามแนวนอน ด้านนอกสีเขียวอมน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดง ด้านในสีม่วงอมแดงเข้ม แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเขียว สีน้ำตาลอมดำคล้ำ หรือสีม่วงอมแดงคล้ำ ระหว่างส่วนโคนกับแผ่นกาบช่อดอกมีรอยคอด ช่อดอกสั้นกว่ากาบช่อดอกเล็กน้อย ดอกแยกเพศร่วมช่อ ไร้กลีบรวม ส่วนบนสุดมีรยางค์สีม่วงอมแดงหรือสีม่วงอมแดงคล้ำ รูปกรวยยาว ผิวมีรอยย่นละเอียด ถัดลงมาเป็นช่วงดอกเพศผู้ รูปทรงกระบอก ตามด้วยช่วงดอกที่เป็นหมัน มี ๒ ส่วน ส่วนบนไม่มีดอกเพศผู้ที่เป็นหมัน เรียบ สีม่วงอมแดง และส่วนล่างมีดอกเพศผู้ที่เป็นหมันสีเหลืองอ่อนรูปลิ่ม เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันที่อยู่ช่วงบนตรง ถัดลงมาโค้งลง ส่วนโคนช่อดอกเป็นช่วงดอกเพศเมีย รูปกรวย ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีขาวทรงรูปไข่กลับ ช่วงปลายสีเขียว เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม มักมี ๑ เมล็ด

ตะพิดเป็นไม้ล้มลุก ส่วนที่อยู่เหนือดินสูงได้ถึง ๒๕ ซม. ลำต้นใต้ดินเป็นหัวค่อนข้างแป้น กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๓-๕ ซม.

 ใบเดี่ยว มี ๑-๓ ใบ รูปคล้ายสามเหลี่ยมกว้าง กว้าง ๔-๑๗ ซม. ปลายเว้าเป็น ๓ แฉก หรือ ๕ แฉก แฉกกลางรูปไข่กว้าง ปลายแหลม ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อย แฉกข้างรูปไข่ รูปรีแคบ หรือรูปสามเหลี่ยม ไม่สมมาตร ปลายแหลม ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบด้านบนสีเขียว เฉพราะกลางใบสีขาว หรือเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบ และเส้นใบย่อยสีขาว อาจมีแต้มสีม่วงอมแดงเข้มอยู่ระหว่างเส้นแขนงใบ แต่ละฉแกมีเส้นแขนงใบข้างละ ๔-๗ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบกว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๗-๒๓ ซม. เรียบ สีเขียวอ่อน

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกจากหัวชูเหนือดิน มี ๑ ช่อ เกิดหลังจากออกใบ กาบช่อดอกยาวประมาณ ๙-๑๗ ซม. ส่วนโค้งม้วนเป็นหลอดทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. กาบหนาประมาณ ๒ มม. ด้านนอกสีเขียว เป็นมันแผ่นกาบช่อดอกรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๔-๗.๕ ซม. ยาว ๗-๑๔ ซม. โค้งลงตามแนวนอนปลายเหลม ด้านนอกสีเขียวอมน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดง ด้านในสีม่วงอมแดงเข้ม แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเขียว สีน้ำตาลอมดำคล้ำ หรือสีม่วงอมแดงคล้ำ ระหว่างส่วนโคนกับแผ่นกาบช่อดอกมีรอยคอดก้านช่อดอกออกตามซอกโคนก้านใบที่มีลักษณะคล้ายกาบ ยาวได้ถึง ๔ ซม. เรียบ สีเขียวอ่อน มีใบประดับ ๑ ใบ ช่อดอกยาว ๘-๑๓.๕ ซม. สั้นกว่ากาบช่อดอกเล็กน้อย ดอกแยกเพศร่วมช่อ ไร้กรีบรวม ส่วนบนสุดมีรยางค์สีม่วงอมแดงหรือสีม่วงอมแดงคล้ำ รูปกรวยยาว กว้าง ๐.๖-๑ ซม. ยาว ๔.๕-๙ ซม. ปลายมน โคนตัด ผิวมีรอยย่นละเอียด โคนรยางค์มีก้านสั้น ถัดลงมาเป็นช่วงดอกเพศผู้ รูปทรงกระบอก กว้างประมาณ ๕-๘ มม. ยาว ๑-๑.๘ ซม. มีดอกจำนวนมากเรียงชิดกันแน่นรอบแกนช่อ เกสรเพศผู้ ๑-๓ เกสร สีชมพูอ่อนหรือสีเหลืองอมชมพูอ่อน ก้านชูอับเรณูสั้นมากถัดลงมาเป็นช่วงดอกที่เป็นหมัน ยาว ๑.๕-๒ ซม. มี ๒ ส่วน ส่วนบนไม่มีดอกเพศผู้ที่เป็นหมัน เรียบ สีม่วงอมแดง ส่วนล่างมีดอกเพศผู้ที่เป็นหมัน ยาวประมาณ ๕ มม. มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันสีเหลืองอ่อนจำนวนมากเรียงชิดกันแน่นรอบแกนช่อ รูปลิ่ม กว้างประมาณ ๐.๘ มม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันที่อยู่ช่วงบนตรง ถัดลงมาโค้งลง ส่วนโคนช่อดอกเป็นช่วงดอกเพศเมียรูปกรวย กว้าง ๓-๘ มม. ยาว ๓-๕ มม. มีดอกจำนวนมากเรียงชิดกันแน่นรอบแกนช่อ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบสีเขียวอ่อน รูปทรงรี กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑-๓ เม็ด ไร้ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียสีเทาอมขาว รูปคล้ายจาน กว้างประมาณ ๐.๘ มม. ยาวประมาณ ๐.๒ มม. มีปุ่มเล็ก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีขาวทรงรูปไข่กลับ ยาวประมาณ ๕ มม. ช่วงปลายสีเขียวเมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม มักมี ๑ เมล็ด

 ตะพิดเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือ ตามที่ค่อนข้างชื้น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๕๐-๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลในช่วงฤดูฝน

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะพิด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Typhonium varians Hett. et Sookch.
ชื่อสกุล
Typhonium
คำระบุชนิด
varians
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hetterscheid, Wilbert Leonard Anna
- Sookchaloem, Duangchai
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Hetterscheid, Wilbert Leonard Anna (1957-)
- Sookchaloem, Duangchai (fl. 1997)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ฉัตรชัย เงินสรวย และนางสาวมณทิรา เกษมสุข