ตะบูนดำ

Xylocarpus moluccensis (Lam.) M. Roem.

ชื่ออื่น ๆ
กาบูน (ชุมพร); ตะบัน (สมุทรปราการ); ตะบูนขาว (ระนอง)
ไม้ต้น โคนลำต้นอาจมีพูพอนต่ำและมีรากหายใจเป็นแท่งแข็ง รูปกรวยแหลมตั้งขึ้นโผล่พ้นผิวดินเป็นบริเวณกว้าง ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๒-๘ ใบ เรียงตรงข้าม รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปรีแกมรูปไข่กลับ ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบคล้ายช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่งและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีขาวแกมสีเหลืองอ่อน ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมแป้น แข็ง เมล็ดรูปทรงสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า น้ำหนักเบา ลอยน้ำได้

ตะบูนดำเป็นไม้ต้น สูง ๘-๒๐ ม. เส้นรอบวง ๐.๘-๑.๘ ม. เปลือกนอกสีเทาเข้มหรือสีน้ำตาลเข้มแตกเป็นร่องเป็นสะเก็ดตามยาว และมีช่องอากาศทั่วไปเปลือกในสีน้ำตาลและเป็นเส้นใย เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อนบริเวณรอบ ๆ โคนลำต้นอาจมีพูพอนต่ำและมีรากหายใจเป็นแท่งแข็ง รูปกรวยแหลมตั้งขึ้นไม่ค่อยเป็นระเบียบโผล่พ้นผิวดินเป็นบริเวณกว้าง

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียน ยาว ๔-๑๒ ซม. มีใบย่อย ๒-๘ ใบ เรียงตรงข้าม รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๔-๑๒ ซม. ปลายแหลมทู่ โคนมน สอบกว้าง หรือเบี้ยวขอบเรียบ แผ่นใบบางถึงค่อนข้างหนา เกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๙ เส้น ปลายเส้นโค้งเชื่อมกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห อาจสังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบประกอบยาว ๔-๗ ซม. ก้านใบย่อยยาวประมาณ ๕ มม. เกลี้ยง สีออกชมพูหรือสีแดงเมื่อแห้ง

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบคล้ายช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่งและตาม



ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๐ ซม. มักมีแขนงช่อย่อยหลายแขนง ใบประดับและใบประดับย่อยคล้ายกาบ รูปไข่ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ค่อนข้างติดทน ก้านดอกยาว ๓-๘ มม. กลีบเลี้ยงยาว ๑-๒ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อยเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก มีขนประปรายทางด้านนอก ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกสีขาวแกมสีเหลืองอ่อนมี ๔ กลีบ รูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๓.๕-๔ มม. เกลี้ยง ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๘ เกสร โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด อับเรณูติดแนบบริเวณผนังปากหลอดด้านในตรงกับแฉกปากหลอด ดอกเพศเมียรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ค่อนข้างกลม เกลี้ยงมี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๓-๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียแผ่โค้งคล้ายรูปครึ่งวงกลม

 ผลแบบผลแห้งแตก เปลือกหนาและแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๑๑ ซม. เมล็ดรูปทรงสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า ค่อนข้างโค้งไปทางด้านหนึ่ง และเว้าทางด้านตรงข้าม น้ำหนักเบา ลอยน้ำได้

 ตะบูนดำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามชายฝั่งทะเล ที่ดินปนทราย มีน้ำทะเลขึ้นถึง ออกดอกเดือนธันวาคมถึงมีนาคม เป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่โซมาเลีย อินเดีย เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย

 ประโยชน์ ช่วยยึดหน้าดินตามชายฝั่ง และเป็นที่อาศัยของสัตว์ทะเล.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะบูนดำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Xylocarpus moluccensis (Lam.) M. Roem.
ชื่อสกุล
Xylocarpus
คำระบุชนิด
moluccensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lamarck, Jean-Baptiste Pierre Antoine de Monet de
- Roemer, Max Joseph
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Lamarck, Jean-Baptiste Pierre Antoine de Monet de (1744-1829)
- Roemer, Max Joseph (1791-1849)
ชื่ออื่น ๆ
กาบูน (ชุมพร); ตะบัน (สมุทรปราการ); ตะบูนขาว (ระนอง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย และ นางสาวกนกพร ชื่นใจดี