ตะบา

Hoya coronaria Blume

ชื่ออื่น ๆ
ตะขา (นราธิวาส)
ไม้เถาอิงอาศัย ทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนม ลำต้นและกิ่งค่อนข้างอวบและแข็ง มีขนนุ่มหนาแน่น ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกทางด้านข้างของโคนก้านใบ ดอกสีขาวนวลหรือสีขาวอมเหลือง เมื่อบานเต็มที่รูปคล้ายวงล้อ ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว สีเขียว รูปทรงกระบอกแกมรูปกระสวย เมล็ดค่อนข้างแบน รูปขอบขนานแกมรูปรี ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่สีขาวนวล มีจำนวนมาก

ตะบาเป็นไม้เถาอิงอาศัย ทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนม ลำต้นและกิ่งค่อนข้างอวบและแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๘ มม. ผิวสีเขียว มีขนนุ่มหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๗-๑๐ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบใบม้วนลง แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีเขียวอ่อน มีขน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น ทำมุม ๗๐-๙๐ องศากับเส้นกลางใบ ปลายโค้งจดกันเป็นแนวใกล้ขอบใบ เห็นไม่ชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบเป็นแท่งทรงกระบอก เส้นผ่าน ช่อดอก ดอกตูม และดอกบานศูนย์กลาง ๒.๕-๔ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขนสั้นหนาแน่น

 ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกทางด้านข้างของโคนก้านใบ แต่ละช่อมี ๑-๑๒ ดอก ก้านช่อดอกค่อนข้างสั้นอวบและแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๘ มม. ยาว ๑-๓ ซม. มีขน ก้านดอกอวบหนา เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มม. ยาว ๒-๓ ซม. มีขนสั้น กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกันแต่ละกลีบรูปค่อนข้างกลม กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๕-๗ มม.ปลายมน ด้านนอกและขอบกลีบมีขนสั้น กลีบดอกหนาและแข็ง สีขาวนวลหรือสีขาวอมเหลือง เมื่อบานเต็มที่รูปคล้ายวงล้อ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓.๕ ซม. กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวกลีบ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๑.๓-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๓-๑.๖ ซม. ปลายแหลม ขอบกลีบม้วนลงผิวด้านในเกลี้ยงเป็นมัน ผิวด้านนอกและขอบกลีบมีขนสั้นนุ่ม กลางดอกมีรยางค์เส้าเกสรสีขาวนวล ๕ รยางค์ รูปไข่กลับ กว้าง ๓-๓.๕ มม. ยาว ๔-๕.๕ มม. ปลายด้านนอกมน ปลายด้านในเป็นติ่งแหลมและตั้งขึ้นเล็กน้อยเกสรเพศผู้ ๕ เกสร เชื่อมติดกันเป็นเส้าเกสร ชุดกลุ่มเรณูมีกลุ่มเรณู ๒ กลุ่ม แต่ละกลุ่มสีเหลือง รูปขอบขนานกว้าง ๐.๓-๐.๔ มม. ยาว ๐.๘-๑ มม. อยู่ในแนวตั้ง ก้านกลุ่มเรณูสั้น ปุ่มยึดก้านกลุ่มเรณูสีน้ำตาลดำรูปไข่กลับกว้าง ๐.๓-๐.๔ มม. ยาว ๐.๗-๐.๘ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ รังไข่ แยกจากกัน แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นและเชื่อมติดกันยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม มี ๕ เหลี่ยม

 ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว สีเขียว รูปทรงกระบอกแกมรูปกระสวย อวบหนา เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ ซม. ยาว ๑๕-๒๒ ซม. มีขนสั้น ปลายผลมน เมล็ดค่อนข้างแบน รูปขอบขนานแกมรูปรี กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. มีจำนวนมาก ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่สีขาวนวล ยาว ๒.๕-๓ ซม.

 ตะบามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าชายเลนและป่าดิบชื้น ที่สูงใกล้ระดับทะเลปานกลาง มักเกาะตามต้นไม้ที่ขึ้นริมลำธารออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะบา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hoya coronaria Blume
ชื่อสกุล
Hoya
คำระบุชนิด
coronaria
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1796-1862)
ชื่ออื่น ๆ
ตะขา (นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.มานิต คิดอยู่