ตะค้านนก

Piper minutistigmum C. DC.

ไม้เลื้อยมีเนื้อไม้ มีข้อโป่งพอง มีรากยึดเกาะออกจากข้อ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปรี ดอกแยกเพศต่างต้นช่อดอกแบบช่อเชิงลด ไม่พบช่อดอกเพศผู้ ช่อดอกเพศเมียรูปทรงกระบอก ไม่มีทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง แต่ละผลรูปทรงค่อนข้างกลม

ตะค้านนกเป็นไม้เลื้อยมีเนื้อไม้ ยาวประมาณ ๑๐ ม. ต้นแยกเพศ มีข้อโป่งพอง มีรากยึดเกาะออกจากข้อ บริเวณปลายยอดเกลี้ยงหรือมีขนประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๖-๑๐ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปกลมเบี้ยวหรือรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ เส้นใบแบบฝ่ามือมี ๕-๗ เส้น หรืออาจมีได้ถึง ๙ เส้น เส้นกลางใบมีเส้นแขนงใบข้างละ ๑ เส้น แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง หูใบ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หุ้มยอดอ่อนและร่วงเมื่อใบอ่อนคลี่ ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. เกลี้ยง

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ก้านช่อยาว ๕-๗ ซม. ไม่พบช่อดอกเพศผู้ ช่อดอกเพศเมียรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๙ ซม. แกนช่ออวบหนามีขนกำมะหยี่ ใบประดับรูปไข่หรือรูปกลม ไม่มีทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอก รังไข่ฝังอยู่ในฐานดอก มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียเป็นเหลี่ยม

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ช่อผลยาว ๕-๑๐ ซม. กว้าง ๑-๑.๕ ซม. รูปทรงกระบอก ห้อยลง ก้านช่อผลยาวได้ถึง ๗ ซม. โคนผลฝังอยู่ในแกนช่อลึกประมาณ ๓ ใน ๔ ของผล มีขนคล้ายกำมะหยี่ แต่ละผลรูปทรงค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ มม.

 ตะค้านนกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบบริเวณป่าพรุ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่อินเดียและภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะค้านนก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Piper minutistigmum C. DC.
ชื่อสกุล
Piper
คำระบุชนิด
minutistigmum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Candolle, Anne Casimir Pyramus de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1836-1918)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.เฉลิมพล สุวรรณภักดี