ตะขาบแดง

Thrixspermum acuminatissimum (Blume) Rchb. f.

ชื่ออื่น ๆ
เอื้องกลีบเข็ม (ทั่วไป)
กล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางยอด ลำต้นตั้งตรง รูปทรงกระบอก สั้นและแข็ง ใบเดี่ยว มี ๒-๕ ใบ เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปแถบ แผ่นใบหนาและเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกทางด้านข้าง เอียงหรือห้อยลง ก้านช่อสีม่วงดำหรือสีน้ำตาลอมม่วง แกนช่อแบน สีม่วงดำ ใบประดับย่อยสีม่วงดำ เรียงสลับระนาบเดียวและติดทน ดอกสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม บานวันเดียว ผลแบบผลแห้งแตกรูปทรงกระบอก สีแดง เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

ตะขาบแดงเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางยอดรากสีขาวแกมสีน้ำตาล ออกตามข้อใกล้โคนต้น ลำต้นตั้งตรง สีเขียวเข้มหรือสีเขียวแกมสีน้ำตาล มักมีจุดประสีม่วงเข้มกระจายทั่วไป รูปทรงกระบอก สั้นและแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ มม. ยาว ๒-๗ ซม. ส่วนโคนเรียวแคบกว่าส่วนปลาย ผิวเรียบ มีกาบใบสีน้ำตาลแกมสีม่วงหุ้มตลอดลำต้น

 ใบเดี่ยว มี ๒-๕ ใบ เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปแถบ กว้าง ๑.๒-๑.๘ ซม. ยาว ๗-๙.๕ ซม. ปลายแหลมหรือหยักเป็น ๒ แฉกตื้น ๆ โคนแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น สีน้ำตาลแดงแกมสีม่วง ขอบเรียบแผ่นใบหนาและเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่าเล็กน้อย เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบขนานจากโคนใบสู่ปลายใบ เห็นไม่ชัด

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกทางด้านข้าง เอียงหรือห้อยลง มี ๑-๕ ช่อ ทั้งช่อยาว ๖-๑๒ ซม. แต่ละช่อมี ๒-๔ ดอก เรียงสลับตามแกนช่อ ก้านช่อสีม่วงดำหรือสีน้ำตาลอมม่วง ยาว ๕-๑๐ ซม. แกนช่อแบน ยาว ๒-๕ ซม. สีม่วงดำ ใบประดับสีเขียวอมม่วง รูปสามเหลี่ยมกว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแหลมใบประดับย่อยสีม่วงดำ เรียงสลับระนาบเดียวและติดทนรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๑-๒ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแหลม ก้านดอกและรังไข่ยาวรวมกันประมาณ ๑ ซม. ดอกสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม ทยอยบานครั้งละ ๑-๒ ดอก บานวันเดียว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ ซม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบเลี้ยงบนและกลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปแถบแคบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๒-๒.๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบดอกด้านข้างรูปแถบแคบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายเรียวแหลม กลีบปากสีขาวนวลหรือสีเหลืองอ่อน มีจุดประสีส้มหรือสีน้ำตาลแดงกระจายทั่วไป รูปไข่กว้างประมาณ ๕ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. ปลายยาวคล้ายหาง ขอบกลีบใกล้โคนทั้ง ๒ ข้างยกโค้งขึ้นเล็กน้อย กลางโคนกลีบปากด้านบนมีปุ่มเนื้อเยื่อนูนสีเหลือง โคนกลีบเป็นเดือย ยาวประมาณ ๑ มม. เส้าเกสรสีเหลืองอ่อนกว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ฝาครอบกลุ่มเรณูสีขาวนวลหรือสีเหลืองอ่อน รูปเกือบกลม กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. กลุ่มเรณูสีเหลืองสด รูปไข่หรือรูปรี แบนด้านข้างเล็กน้อย มี ๔ กลุ่ม เรียงเป็น ๒ ชุด ชุดละ ๒ กลุ่ม ในแต่ละชุดขนาดไม่เท่ากันกลุ่มใหญ่กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. กลุ่มเล็กกว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นแอ่งอยู่ทางด้านหน้าใกล้ปลายเส้าเกสร



 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก สีแดงเมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ตะขาบแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นตามป่าดิบเขาและป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๓๐๐-๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะขาบแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Thrixspermum acuminatissimum (Blume) Rchb. f.
ชื่อสกุล
Thrixspermum
คำระบุชนิด
acuminatissimum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
- Reichenbach, Heinrich Gustav
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von (1796-1862)
- Reichenbach, Heinrich Gustav (1824-1889)
ชื่ออื่น ๆ
เอื้องกลีบเข็ม (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายภัทธรวีร์ พรมนัส