ตะขาบเหลือง

Thrixspermum centipeda Lour.

ชื่ออื่น ๆ
กระต่ายหูเดียว, ตีนตะขาบ, เอื้องกลีบผอม, เอื้องปากนก (ลำปาง); เอื้องแมงมุมขาว (ทั่วไป)
กล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางยอด ลำต้นตั้งตรง เอียง หรือห้อยลง รูปทรงกระบอก เรียวยาวและแข็ง ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปรี หรือรูปแถบ แผ่นใบหนาและเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามข้อข้างลำต้นตั้งแต่กลางถึงใกล้ปลายยอด ก้านช่อมีใบประดับย่อยสีเขียวอ่อน เรียงสลับระนาบเดียวและติดทน ดอกสีขาวนวล สีเหลือง หรือสีเหลืองอมส้ม บานวันเดียว ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก สีเขียวอ่อน เมื่อแก่สีน้ำตาลเข้ม เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ตะขาบเหลืองเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางยอด รากสีขาวหรือสีเขียวแกมสีเทา ขนาดใหญ่และยาวมีจำนวนมาก ออกตามข้อตั้งแต่กลางถึงโคนต้น ลำต้นขึ้นชิดกันเป็นกอขนาดใหญ่ ตั้งตรง เอียง หรือห้อยลง



สีเขียวแกมสีเหลืองหรือสีเขียวแกมสีน้ำตาล รูปทรงกระบอก เรียวยาวและแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๙ มม. ยาว ๗-๕๐ ซม. ส่วนโคนเรียวแคบกว่าส่วนปลาย ผิวเรียบมีกาบใบสีเขียวแกมสีน้ำตาลหุ้มตลอดลำต้น

 ใบเดี่ยว มีจำนวนมาก เรียงสลับ รูปขอบขนานรูปขอบขนานแกมรูปรี หรือรูปแถบ กว้าง ๑.๒-๓ ซม. ยาว ๖-๒๔ ซม. ปลายเว้าตื้นเป็นแฉกมน ๒ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน โคนแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ขอบเรียบ แผ่นใบหนาและเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่าเล็กน้อย เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบขนานจากโคนใบสู่ปลายใบ เห็นไม่ชัด

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามข้อข้างลำต้นตั้งแต่กลางถึงใกล้ปลายยอด ตั้งขึ้น เอียง หรือห้อยลงมี ๑-๘ ช่อ ทั้งช่อยาว ๖-๒๐ ซม. แต่ละช่อมี ๒-๑๕ ดอก เรียงสลับตามแกนช่อ ก้านช่อสีเขียวหรือสีเขียวแกมสีเหลือง ยาว ๓-๑๐ ซม. แกนช่อสีเขียวอ่อนและแบนยาว ๒-๑๐ ซม. ใบประดับสีเขียวแกมสีน้ำตาล รูปสามเหลี่ยม กว้าง ๑-๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแหลม ใบประดับย่อยสีเขียวอ่อน เรียงสลับระนาบเดียวและติดทน รูปสามเหลี่ยม กว้าง ๓-๖ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. ปลายแหลม แบนด้านข้าง ก้านดอกและรังไข่ยาวรวมกัน ๐.๖-๑.๖ ซม. ดอกสีขาวนวล สีเหลือง หรือสีเหลืองอมส้ม ทยอยบานครั้งละ ๑-๓ ดอก บานวันเดียวกลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบเลี้ยงบนและกลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปแถบหรือรูปเคียวแกมรูปใบหอกแคบ กว้าง ๒-๕ มม. ยาว ๓-๔.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบดอกด้านข้างรูปแถบหรือรูปเคียวแกมรูปใบหอกแคบ กว้าง ๑.๘-๔ มม. ยาว ๓-๔.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม กลีบปากแยกเป็น ๓ แฉก แฉกข้างสีขาวนวลหรือสีเหลืองอ่อน มักมีจุดประสีส้มหรือสีน้ำตาลแดงกระจายทั่วไป รูปไข่ กว้าง ๑-๓ มม. ยาว ๒-๕ มม. ปลายมน แฉกกลางอวบน้ำ สีขาว รูปคล้ายกรวย กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๔-๗ มม. ปลายมน กลางโคนกลีบปากด้านบนมีปุ่มเนื้อเยื่อนูนสีขาว รูปสามเหลี่ยมหรือรูปลิ่ม ๑ ปุ่ม ด้านนอกกลีบปากมีจุดประสีส้ม โคนกลีบปากใกล้เส้าเกสรเป็นเดือย ยาวประมาณ ๒ มม. เส้าเกสรสีขาวนวลหรือสีเหลืองอ่อน กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๓-๖ มม. ฝาครอบกลุ่มเรณูสีขาว รูปเกือบกลม กว้าง ๓-๙ มม. ยาว ๐.๔-๑ ซม. กลุ่มเรณูสีเหลืองสด รูปรี แบนด้านข้างเล็กน้อย มี ๔ กลุ่ม เรียงเป็น ๒ ชุด ชุดละ ๒ กลุ่ม ในแต่ละชุดขนาดไม่เท่ากัน กลุ่มใหญ่กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. กลุ่มเล็กกว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นแอ่งอยู่ทางด้านหน้าใกล้ปลายเส้าเกสร

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก กว้าง ๓-๙ มม. ยาว ๓-๑๐ ซม. มีสันตามยาว ๖ สัน แต่ละสันแผ่เป็นปีก ผลอ่อนสีเขียวอ่อน เมื่อแก่สีน้ำตาลเข้ม เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ตะขาบเหลืองมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าดิบเขา ป่าสนเขา และป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๖๐๐-๑,๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูฏาน เมียนมา จีน ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะขาบเหลือง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Thrixspermum centipeda Lour.
ชื่อสกุล
Thrixspermum
คำระบุชนิด
centipeda
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1717-1791)
ชื่ออื่น ๆ
กระต่ายหูเดียว, ตีนตะขาบ, เอื้องกลีบผอม, เอื้องปากนก (ลำปาง); เอื้องแมงมุมขาว (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายภัทธรวีร์ พรมนัส