ตะขาบสองตะพัก

Pinalia bipunctata (Lindl.) Kuntze

กล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางด้านข้าง หัวเทียมสีเขียวอ่อน รูปกระสวย ตั้งขึ้นหรือเอียง ใบเดี่ยว มี ๔-๖ ใบ เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก แผ่นใบหนาและกึ่งเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามข้อและตามซอกใบใกล้ปลายยอด ก้านช่อและแกนช่อดอกสีเขียวอ่อน มีขนสั้นนุ่มสีขาวหนาแน่น ใบประดับย่อยสีเขียวอ่อน ดอกสีขาว ปลายกลีบปากสีเหลืองเข้ม เส้าเกสรสีม่วงอมชมพู ผลแบบผลแห้งแตก เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

ตะขาบสองตะพักเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางด้านข้าง รากสีน้ำตาลอ่อน ออกเป็นกระจุกจากโคนหัวเทียม หัวเทียมสีเขียวอ่อน รูปกระสวย แบนด้านข้าง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๔-๘ ซม. ตั้งขึ้นหรือเอียง เรียงชิดกันเป็นกอขนาดใหญ่ ส่วนโคนเรียวแคบกว่าส่วนปลาย ผิวเรียบ มีกาบใบสีน้ำตาลอ่อนหุ้มตลอดหัวเทียม

 ใบเดี่ยว มี ๔-๖ ใบ ออกที่ด้านข้างของหัวเทียม เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๘-๑๕ ซม. ปลายแหลม โคนแผ่เป็นกาบหุ้มหัวเทียม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาและกึ่งเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่าเล็กน้อย เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบขนานจากโคนใบสู่ปลายใบ เห็นไม่ชัด

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามข้อและตามซอกใบใกล้ปลายยอด ตั้งขึ้นหรือเอียง มี ๑-๒ ช่อ ช่อดอกยาว ๖-๘ ซม. แต่ละช่อมี ๓๐-๔๐ ดอก เรียงเวียนตามแกนช่อดอก ก้านช่อดอกสีเขียวอ่อน ยาว ๑.๕-๒ ซม. แกนช่อดอกสีเขียวอ่อน ยาว ๔-๗ ซม. ทั้งก้านช่อและแกนช่อดอกมีขนสั้นนุ่มสีขาวหนาแน่น ใบประดับสีเขียวอ่อน รูปใบหอก กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๔-๖ มม. ปลายแหลม ใบประดับย่อยสีเขียวอ่อน รูปใบหอก กว้างและยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแหลม ก้านดอกและรังไข่ยาวรวมกัน ๔-๕ มม. มีขนสั้นนุ่มสีขาวหนาแน่น ดอกสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๖ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบเลี้ยงบนและกลีบเลี้ยงข้างรูปไข่ กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๕-๖ มม. ปลายมนหรือแหลม กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบดอกด้านข้างรูปไข่ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๒-๓ มม. ปลายมน กลีบปากแยกเป็น ๓ แฉก แฉกข้างสีขาวนวล รูปคล้ายรูปสามเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายแหลมหรือมน แฉกกลางสีขาวนวล หนาและอวบน้ำ รูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแฉกเป็นตุ่มเนื้อเยื่อสีเหลืองเข้ม เส้าเกสรสีม่วงอมชมพู กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. คางยาวประมาณ ๕ มม. ฝาครอบกลุ่มเรณูสีชมพูอมม่วง รูปเกือบกลม กว้างและยาว ๑-๑.๕ มม. กลุ่มเรณูสีเหลืองสด รูปรีหรือรูปคล้ายกระบอง แบนด้านข้างเล็กน้อย เรียงเป็น ๒ ชุด ชุดละ ๔ กลุ่ม แต่ละชุดมีขนาดใกล้เคียงกัน กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. มีแป้นก้านกลุ่มเรณู รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นแอ่งอยู่ทางด้านหน้าใกล้ปลายเส้าเกสร

 ผลแบบผลแห้งแตก เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ตะขาบสองตะพักมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑,๒๐๐-๑,๘๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล และภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะขาบสองตะพัก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pinalia bipunctata (Lindl.) Kuntze
ชื่อสกุล
Pinalia
คำระบุชนิด
bipunctata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lindley, John
- Kuntze, Carl Ernst Otto
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Lindley, John (1799-1865)
- Kuntze, Carl Ernst Otto (1843-1907)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายภัทธรวีร์ พรมนัส