ตองแตบ

Macaranga denticulata (Blume) Müll. Arg.

ชื่ออื่น ๆ
กะลอ, กะลอเกลี้ยง, สะลอเกลี้ยง, หลอ (ใต้); กะหลำป้าง, สลาป้าง (ตราด); ตองเต้า (เหนือ); ตองม่อม (ชาน-
ไม้ต้น มีขุยสีน้ำตาลอ่อนอมเทาหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปคล้ายรูปสามเหลี่ยม รูปไข่แกมรูปคล้ายสามเหลี่ยม หรือรูปไข่กว้าง ใกล้โคนใบมีต่อมน้ำต้อยขนาดเล็กหลายต่อม ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ดอกสีเขียวอ่อน ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม มี ๒ พู แต่ละพูมี ๑ เมล็ด รูปทรงค่อนข้างกลม

ตองแตบเป็นไม้ต้น สูง ๓-๑๕ ม. กิ่งเป็นสันตามยาว มีขุยสีน้ำตาลอ่อนอมเทาหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปคล้ายรูปสามเหลี่ยม รูปไข่แกมรูปคล้ายสามเหลี่ยม หรือรูปไข่กว้าง กว้าง ๘-๒๘ ซม. ยาว ๑๐-๓๐ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมนกว้าง ตัดกว้าง หรือกลม ก้นปิด ใกล้โคนใบมีต่อมน้ำต้อยขนาดเล็กหลายต่อม ขอบเรียบหรือหยักซี่ฟันห่างแผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นใบ


รูปฝ่ามือ ๗-๙ เส้น เส้นแขนงใบตรงและขนานกัน ด้านล่างมีขุยละเอียดหรือขนสั้นนุ่มปกคลุม ใบแก่เกลี้ยง ก้านใบเรียวยาว ยาว ๕-๑๑ ซม. ปลายโค้งงอคล้ายเข่าและติดกับใบแบบก้นปิด มีขุยสีน้ำตาลอ่อนเล็กน้อย หูใบรูปรีหรือรูปใบหอก กว้าง ๑-๓ มม. ยาว ๐.๓-๑ ซม. ตั้งตรงมีขุยสีน้ำตาลอ่อนอมเทาหนาแน่น ร่วงง่าย

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ดอกสีเขียวอ่อน ช่อดอกเพศผู้เป็นช่อแยกแขนงเล็กซ้อนกันค่อนข้างแน่น กว้างได้ถึง ๙ ซม. ยาวได้ถึง ๑๐ ซม. มีแกนช่อ ๓-๔ ชั้น ทุกแขนงกางออกมาก มีขนสั้นนุ่ม แขนงสุดท้ายคล้ายเส้นด้าย ยาวประมาณ ๑ ซม. ใบประดับเล็ก ขนาดประมาณ ๑ มม. ตั้งตรง ปลายมน มีขุยติดแน่น ใบประดับย่อยคล้ายใบประดับ มีขนาดเล็กกลุ่มดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. ระยะห่างเท่า ๆ กัน เมื่อแก่กลุ่มดอกไม่ซ้อนกัน แต่ละกลุ่มมีดอกประมาณ ๖ ดอก ดอกเพศผู้รูปทรงกลม ก้านดอกยาวประมาณ ๐.๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๒-๓ แฉก ยาวประมาณ ๑ มม. เกสรเพศผู้ประมาณ ๑๕ เกสร อับเรณูมี ๔ ช่อง ไม่มีเกสรเพศเมียเป็นหมันช่อดอกเพศเมียเป็นช่อกระจะเล็กซ้อนกันแน่น กว้าง ๓-๕ ซม. ยาวได้ถึง ๗ ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยคล้ายกับช่อดอกเพศผู้ ดอกเพศเมียกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันคล้ายรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๔-๕ แฉก รูปไข่กว้าง ๒-๒.๘ มม. ยาว ๒-๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบรูปทรงค่อนข้างกลม มี ๒-๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด มีขนแข็งหนาแน่น ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๒-๓ ก้าน ยาว ๐.๕-๑.๕ มม. คล้ายขนนก ยอดเกสรเพศเมียยาว ๔.๕-๖ มม. ผิวเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม มี ๒ พู กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. เกลี้ยงสีน้ำตาลดำ เมื่อแห้งเห็นต่อมเล็ก ๆ สีเข้ม กลีบเลี้ยงติดทน ก้านผลใหญ่แข็ง ยาวได้ถึง ๑ ซม. แต่ละพูมี ๑ เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม

 ตองแตบมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบทั่วไปตามป่าละเมาะ ไหล่เขา ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่แอฟริกา หมู่เกาะมาดากัสการ์ อินเดีย เนปาล ภูฏาน ศรีลังกา จีน ลาว คาบสมุทรมลายู อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก

 ประโยชน์ ใช้เป็นสมุนไพร รากเป็นยาถ่าย เมล็ดเป็นยาถ่ายอย่างแรง ใช้แทนสลอด.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตองแตบ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Macaranga denticulata (Blume) Müll. Arg.
ชื่อสกุล
Macaranga
คำระบุชนิด
denticulata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
- Müller Argoviensis, Johannes (Jean)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von (1796-1862)
- Müller Argoviensis, Johannes (Jean) (1828-1896)
ชื่ออื่น ๆ
กะลอ, กะลอเกลี้ยง, สะลอเกลี้ยง, หลอ (ใต้); กะหลำป้าง, สลาป้าง (ตราด); ตองเต้า (เหนือ); ตองม่อม (ชาน-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต