ตองแตกใบยาว

Baliospermum calycinum Müll. Arg.

ชื่ออื่น ๆ
ตองแตกเล็ก, เปล้าดอย (ทั่วไป); เปล้าตองแตก (เชียงใหม่)
ไม้พุ่ม ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานถึงรูปรี บางครั้งรูปไข่หรือรูปไข่กลับ โคนมีต่อม ๒ ต่อม ขอบจักฟันเลื่อยหรือหยักมนเล็กน้อย มีเส้นโคนใบ ๓ เส้น ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกสีเขียวอ่อนถึงสีเหลืองอมเขียวอ่อน ไร้กลีบดอก ดอกเพศเมียมีกลีบเลี้ยงขยายใหญ่และติดทนเมื่อเป็นผล ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล มี ๓ พู แต่ละพูมี ๑ เมล็ด รูปทรงค่อนข้างกลม สีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลเข้ม มีจุกขั้ว

ตองแตกใบยาวเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๓ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานถึงรูปรี บางครั้งรูปไข่หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลมหรือแหลมเป็นหางยาวเล็กน้อย โคนรูปลิ่มแคบ บางครั้งโคนมนกลม มีต่อม ๒ ต่อม ขอบจักฟันเลื่อยหรือหยักมนเล็กน้อย ผิวใบมีขนแข็งเอนทางด้านล่างหรือทั้ง ๒ ด้าน มีเส้นโคนใบ ๓ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น เส้นกลางใบเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๒-๖ ซม. พบบ้างที่ยาวได้ถึง ๙ ซม.

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง เกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม ช่อดอกเพศผู้ยาว ๑-๑๖ ซม. ช่อดอกเพศเมียยาว ๒-๓ ซม. ดอกสีเขียวอ่อนถึงสีเหลืองอมเขียวอ่อน ไร้กลีบดอก ดอกเพศผู้มีหลายดอก ก้านดอกยาว ๐.๕-๓ มม. เมื่อบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘-๓ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปกลมหรือรูปไข่ กว้าง ๐.๘-๒ มม. ยาว ๑-๒.๕ มม. โคนเชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้ ๙-๒๑ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๒-๒ มม. อับเรณูรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๒ มม. ยาว ๐.๓-๐.๖ มม. จานฐานดอกเป็นวง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๖-๑.๒ มม. มีต่อม ๕ ต่อม ดอกเพศเมียมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๗ มม. ก้านดอกยาว ๑-๒ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปรีหรือรูปขอบขนาน บางครั้งรูปไข่ กว้าง ๑-๔ มม. ยาว ๓-๘ มม. บางคล้ายกระดาษ มีขนสั้นนุ่มหรือค่อนข้างเกลี้ยง กลีบเลี้ยงขยายใหญ่และติดทนเมื่อเป็นผล รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๓ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเล็กเรียว ยาว ๑-๓ มม. ยอดเกสรเพศเมีย ๓ ยอด แผ่กว้าง แต่ละยอดปลายแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๐.๘ ซม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. ปลายบุ๋ม มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน โคนผลมีกลีบเลี้ยงติดทน กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๕-๘ ซม. ผลแก่แตกตามยาวกลางพู มีแกนกลางผลติดทน มี ๓ พู แต่ละพูมี ๑ เมล็ด รูปทรงค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. สีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลเข้ม ผิวคล้ายหินอ่อน มีจุกขั้ว

 ตองแตกใบยาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบในป่าดิบและป่าดิบเขา ตามที่โล่ง ริมน้ำ และไหล่เขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๖๕๐-๒,๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงกุมภาพันธ์ เป็นผลเดือนกันยายนถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ เมียนมา และจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตองแตกใบยาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Baliospermum calycinum Müll. Arg.
ชื่อสกุล
Baliospermum
คำระบุชนิด
calycinum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Müller Argoviensis, Johannes (Jean)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Müller Argoviensis, Johannes (Jean) (1828-1896)
ชื่ออื่น ๆ
ตองแตกเล็ก, เปล้าดอย (ทั่วไป); เปล้าตองแตก (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต