ตองเต๊า

Mallotus barbatus Müll. Arg.

ชื่ออื่น ๆ
กระรอกขน (ชุมพร); กะลอขน, กะลอยายทาย (ใต้); ขี้เท่า, เต๊าขน, ปอเต๊า (เหนือ); บาเละอางิง (มลายู-นราธิ
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น มีขนรูปดาวแข็ง ร่วงง่าย และมีเกล็ดต่อมสีค่อนข้างขาวถึงสีขาวอมส้มหนาแน่น ใบเดี่ยวเรียงเวียน บางครั้งเรียงตรงข้ามบริเวณใต้ช่อดอก รูปไข่หรือรูปค่อนข้างกลม ขอบหยักซี่ฟัน ใกล้โคนใบมีต่อมน้ำต้อยสีดำได้ถึง ๔ ต่อม ใบแห้งสีออกน้ำตาล เส้นใบรูปฝ่ามือ ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ดอกเพศผู้สีขาวนวลถึงสีขาวอมน้ำตาล ดอกเพศเมียสีแดงอมเหลือง ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม มี ๓ พู เมล็ดทรงรูปไข่กลับ สีดำ

ตองเต๊าเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๐ ม.มีขนรูปดาวแข็ง ร่วงง่าย และมีเกล็ดต่อมสีค่อนข้างขาวถึงสีขาวอมส้มหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน บางครั้งเรียงตรงข้ามบริเวณใต้ช่อดอก รูปไข่หรือรูปค่อนข้างกลม กว้าง ๘.๕-๓๐ ซม. ยาว ๑๑-๓๗ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงแหลมเป็นหางยาว โคนกลมก้นปิด ขอบหยักซี่ฟัน มีต่อมตามรอยหยัก บางครั้งหยักเป็นหยักตื้น ๓ หยัก หยักยาวสุดยาวได้ถึง ๔.๕ ซม. แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนค่อนข้างเกลี้ยง ใกล้โคนใบมีต่อมน้ำต้อยสีดำได้ถึง ๔ ต่อม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ด้านล่างมีขนหนาแน่นตามเส้นใบและมีเกล็ดต่อม ใบแห้งสีออกน้ำตาล เส้นใบรูปฝ่ามือ เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๓.๒-๑๙.๕ ซม. ใหญ่และแข็ง ติดกับใบแบบก้นปิด ลึกเข้ามาจากขอบโคนใบประมาณ ๑ ซม. หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบ กว้าง ๐.๕-๑ มม. ยาว ๐.๖-๑ ซม. ร่วงง่าย ใบอ่อนสีชมพู

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ช่อดอกเพศผู้ยาวได้ถึง ๓๐ ซม. แขนงด้านข้างยาวได้ถึง ๑๑ ซม. แต่ละข้อมีดอก ๓ ดอก ใบประดับรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๐.๘ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ดอกเพศผู้สีขาวนวลถึงสีขาวอมน้ำตาล ก้านดอกยาว ๓.๖-๕.๕ มม. เมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลาง ๗.๕-๘.๕ มม. กลีบเลี้ยง ๔-๕ กลีบ รูปไข่ถึงรูปรี กว้าง ๑.๒-๓ มม. ยาว ๓.๕-๕ มม. โคนเชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้มากกว่า ๕๐ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๒-๓.๗ มม. สีเขียวอ่อนหรือสีเหลือง อับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๐.๔ มม. สีเหลืองอ่อน ช่อดอกเพศเมียยาวได้ถึง ๔๐ ซม. ห้อยลง แขนงด้านข้างยาวได้ถึง ๑๖ ซม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๐.๘-๒ มม. ยาว ๐.๔-๑ ซม. ใบประดับย่อยยาว ๒.๗-๔ มม. ดอกเพศเมียสีแดงอมเหลืองเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๖ มม. ก้านดอกยาว ๑.๕-๔ มม. เมื่อเป็นผลยาวได้ถึง ๙ มม. กลีบเลี้ยง ๔-๕ กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๔-๕ แฉก รูปไข่ กว้าง ๒-๒.๘ มม. ยาว ๒.๑-๒.๘ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนแข็งหนาแน่น รูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๒-๒.๕ มม. ปลายแบน มี ๓-๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๐.๕-๑.๕ มม. คล้ายขนนก ยอดเกสรเพศเมียยาว ๔.๕-๖ มม. เรียบ

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๑.๖-๒ ซม. ยาว ๑.๘-๒.๑ ซม. สีเหลืองถึงสีน้ำตาลอ่อนมีขนรูปดาวและมีหนามอ่อน ยาวได้ถึง ๗ มม. แกนผลยาว ๖-๙ มม. มี ๓ พู แต่ละพูมี ๑ เมล็ด เมล็ดทรงรูปไข่กลับ กว้าง ๓.๕-๔ มม. ยาว ๕-๕.๕ มม. หนา ๓.๕-๔ มม. สีดำ ก้านผลยาว ๐.๕-๓ ซม.

 ตองเต๊ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค เป็นพืชเบิกนำในที่โล่ง พบตามป่าละเมาะป่าผลัดใบ ชายป่าดิบ และป่าดิบเขา ตามเชิงเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๕๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนกันยายนถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีน ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตองเต๊า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Mallotus barbatus Müll. Arg.
ชื่อสกุล
Mallotus
คำระบุชนิด
barbatus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Müller Argoviensis, Johannes (Jean)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1828-1896)
ชื่ออื่น ๆ
กระรอกขน (ชุมพร); กะลอขน, กะลอยายทาย (ใต้); ขี้เท่า, เต๊าขน, ปอเต๊า (เหนือ); บาเละอางิง (มลายู-นราธิ
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต