ตองหนาม

Salacca griffithii A. J. Hend.

ชื่ออื่น ๆ
ก่อเฮาะ, เกาะฮ่อ (แม่ฮ่องสอน)
ปาล์มขนาดกลาง ขึ้นเป็นกอ ลำต้นสั้นอยู่ใต้ดิน มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นตามช่อดอกและใบประดับ ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงเวียน ใบย่อยข้างละ ๓๕-๔๒ ใบ เรียงสลับระนาบเดียว รูปแถบ ก้านใบมีหนามออกเป็นกระจุก ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง แต่ละต้นมีหลายช่อ ออกชิดกันที่ปลายยอด ช่อดอกออกจากยอดสู่โคนแล้วต้นตาย แต่ละช่อมีช่อแขนงย่อยคล้ายช่อเชิงลด ๑-๒ ช่อ โคนช่อดอกมีใบลดรูปจำนวนมาก ใบประดับรูปสามเหลี่ยม เรียงซ้อนกัน ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุก ดอกเพศเมียออกเดี่ยวหรือออกเป็นคู่กับดอกเพศผู้ที่เป็นหมัน ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่กลับหรือรูปทรงค่อนข้างกลม ผนังผลชั้นนอกมีเกล็ดสีแดงหนาแน่น ปลายโค้งออกคล้ายหนาม ผนังผลชั้นกลางมีเนื้อบาง เมล็ดทรงรูปไข่ ปลายบุ๋ม มีเนื้อหุ้มเมล็ด มี ๑-๓ เมล็ด

ตองหนามเป็นปาล์มขนาดกลาง ขึ้นเป็นกอ สูงได้ถึง ๑๐ ม. ลำต้นสั้นอยู่ใต้ดิน มีกาบใบเก่ารวมโคนก้านใบติดตามลำต้น

 ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงเวียน แต่ละต้นมี ๑๐-๑๕ ใบ แกนกลางใบยาวได้ถึง ๔.๕ ม. ใบย่อยข้างละ ๓๕-๔๒ ใบ เรียงสลับระนาบเดียว รูปแถบ กว้าง ๔-๗ ซม. ยาว ๐.๘-๑.๓ ม. ไร้ก้าน มีหนามขนาดเล็กกระจายตามเส้นใบ ใบส่วนปลายสุดมักเชื่อมติดกัน ก้านใบยาวได้ถึง ๒.๙ ม. แข็ง ส่วนปลายด้านบนแบน ส่วนโคนเป็นร่อง มีหนามออกเป็นกระจุก แต่ละกระจุกมี ๒-๑๐ หนาม รูปแถบ กระจายห่าง ๆ ที่ส่วนปลาย หนาแน่นที่ส่วนโคน กาบใบสีน้ำตาลอมดำ เชื่อมติดที่โคนก้านใบ รูปสามเหลี่ยม ปลายเป็นริ้ว ยาวได้ถึง ๑.๕ ซม.

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง แต่ละต้นมีหลายช่อ ออกชิดกันที่ปลายยอด มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ช่อดอกออกจากยอดสู่โคนแล้วต้นตาย ก้านช่อดอกสั้น แต่ละช่อมีช่อแขนงย่อยคล้ายช่อเชิงลด ๑-๒ ช่อ โคนช่อดอกมีใบลดรูปจำนวนมาก ใบประดับรูปสามเหลี่ยม เรียงซ้อนกัน ใบประดับย่อยด้านล่างมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ช่อดอกเพศผู้ยาวได้ถึง ๑ ม. ช่อแขนงย่อยยาว ๑๓-๒๔ ซม. ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุกจากแอ่ง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๓ แฉก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นก้านสั้น ส่วนกลางเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยม เรียงจดกัน เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ติดที่ปากหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น รูปสามเหลี่ยม อับเรณูติดด้านหลัง รูปทรงกลมถึงรูปขอบขนาน แตกตามยาว อาจมีเกสรเพศเมียที่เป็นหมันขนาดเล็กหรือไม่มี ช่อดอกเพศเมียยาว ๓๐-๔๐ ซม. แต่ละต้นมี ๗-๑๐ ช่อ แต่ละช่อแขนงย่อยยาว ๘-๑๒ ซม. ดอกเพศเมียออกเดี่ยวหรือออกเป็นคู่กับดอกเพศผู้ที่เป็นหมัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด มีเกล็ดแบน ยอดเกสรเพศเมียปลายแยกเป็น ๓ แฉก

 ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่กลับหรือรูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๖-๘ ซม. ยาว ๕-๖ ซม. ปลายเป็นจะงอย มียอดเกสรเพศเมียติดทน ผนังผลชั้นนอกมีเกล็ดสีแดงหนาแน่น ปลายโค้งออกคล้ายหนาม ผนังผลชั้นกลางมีเนื้อบาง ผนังผลชั้นในแข็ง เมล็ดทรงรูปไข่ ปลายบุ๋ม มีเนื้อหุ้มเมล็ด มี ๑-๓ เมล็ด

 ตองหนามมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามพื้นที่โล่งมีน้ำขังหรือริมลำธารใกล้ป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐๐-๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและจีนตอนใต้

 ประโยชน์ ผลสุกรับประทานได้

 สกุล Salacca Reinw. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Calamoideae เผ่า Calameae ในประเทศไทยพบ ๔ ชนิด ได้แก่ ตองหนาม (S. griffithii A. J. Hend.) สละไทย (S. glabrescens Griff.) ละกำเขา (S. stolonifera Hodel) และระกำ (S. wallichiana Mart.) ส่วนสละ [S. zalacca (Gaertn.) Voss] ที่เป็นไม้ผล เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซีย ปัจจุบันตองหนามมีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามเนื่องจากถิ่นกำเนิดถูกทำลาย ส่งผลให้ประชากรมีแนวโน้มลดลงในอนาคต.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตองหนาม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Salacca griffithii A. J. Hend.
ชื่อสกุล
Salacca
คำระบุชนิด
griffithii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Henderson, Andrew James
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1950-)
ชื่ออื่น ๆ
ก่อเฮาะ, เกาะฮ่อ (แม่ฮ่องสอน)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง และนายคุณานนต์ ดาวนุไร