ตองลาดใบขนาน

Actinodaphne omeiensis (H.Liu) C. K. Allen

ไม้ต้นขนาดเล็ก กิ่งอ่อนมีขนอุย กิ่งแก่เกลี้ยง ตายอดมีเกล็ดคล้ายใบหุ้มซ้อนเหลื่อม รูปทรงรี ใบเดี่ยว เรียงกึ่งเป็นวงรอบ มี ๔-๖ ใบ ออกถี่เป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง รูปขอบขนานถึงรูปใบหอก ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบหรือตามกิ่ง ดอกสีขาวอมเขียวอ่อน ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงค่อนข้างกลม เมื่อสุกสีแดงเข้ม มีกลีบรวมคล้ายจานหรือรูปถ้วยตื้นติดทนที่โคนผล เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม มี ๑ เมล็ด

ตองลาดใบขนานเป็นไม้ต้น สูง ๓-๕ ม. กิ่งอ่อนมีขนอุย กิ่งแก่เกลี้ยง ตายอดมีเกล็ดคล้ายใบหุ้มซ้อนเหลื่อม รูปทรงรี ยาว ๑-๒.๒ ซม. เกลี้ยงถึงมีขนสั้นหนาแน่น เมื่อเกล็ดร่วงมีรอยแผลเหนือกระจุกใบ

 ใบเดี่ยว เรียงกึ่งเป็นวงรอบ มี ๔-๖ ใบ ออกถี่เป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง รูปขอบขนานถึงรูปใบหอก กว้าง ๒-๖ ซม. ยาว ๑๒-๑๖ ซม. พบบ้างที่ยาวได้ถึง ๒๗ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ค่อนข้างบาง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนเป็นมัน ด้านล่างมีนวลสีเงิน เส้นกลางใบนูนเด่นชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๕ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ นูนทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบขั้นบันไดหรือแบบร่างแห เห็นไม่ชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบเล็กเรียว ยาว ๑-๓ ซม. เกลี้ยง

 ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบหรือตามกิ่ง แต่ละช่อมี ๗-๘ ดอก ก้านช่อดอกสั้น ใบประดับร่วงง่าย มีรอยแผลที่โคนช่อดอก ดอกสีขาวอมเขียวอ่อน ก้านดอกยาวประมาณ ๕ มม. กลีบรวมโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกบาง ๖ แฉก เรียงซ้อนเหลื่อม แฉกชั้นนอกใหญ่กว่าแฉกชั้นในเล็กน้อย ดอกเพศผู้มีแฉกกลีบรวมด้านในเกลี้ยง ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม เกสรเพศผู้ ๙-๑๒ เกสร เรียงเป็น ๓ วง เกสรวงนอกและเกสรวงกลางไร้ต่อม ส่วนเกสรวงในมีต่อมแบบมีก้านที่ปลายก้านชูอับเรณู ๒ ต่อม ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๔ มม. มีขนอุย อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว ๑.๓-๑.๕ มม. ปลายแหลม อับเรณูแตกแบบฝาเปิดทางด้านเดียวกันมี ๔ ช่อง แยกเป็นด้านบน ๒ ช่อง ด้านล่าง ๒ ช่อง หันเข้า ดอกเพศเมียมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเท่ากับจำนวนเกสรเพศผู้ในดอกเพศผู้ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแบบก้นปิด

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ออกเป็นช่อ แต่ละช่อมีได้ถึง ๓ ผล รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๒ ซม. ผลอ่อนสีเขียวอ่อน มีจุดสีขาว เมื่อสุกสีแดงเข้ม มีกลีบรวมคล้ายจานหรือรูปถ้วยตื้นติดทนที่โคนผล ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น ด้านในมีขนประปราย ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ก้านผลหนา ยาว ๖-๗ มม. เกลี้ยงหรือมีขนประปราย เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม มี ๑ เมล็ด

 ตองลาดใบขนานมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐๐-๑,๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่จีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตองลาดใบขนาน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Actinodaphne omeiensis (H.Liu) C. K. Allen
ชื่อสกุล
Actinodaphne
คำระบุชนิด
omeiensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Allen, Caroline Kathryn
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Allen, Caroline Kathryn (1904-1975)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต