ตองลาดสิกขิม

Actinodaphne sikkimensis Meisn.

ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ต้นอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีขาวอมเหลืองอ่อน เปลือกต้นแตกเป็นแผ่น สีเทาถึงสีน้ำตาล เปลือกในสีน้ำตาลอมเหลืองอ่อน ตายอดมีเมล็ดคล้ายใบหุ้มซ้อนเหลื่อม รูปใบหอกกลับแกมรูปทรงรี เมื่อเกล็ดร่วงมีรอยแผลเหนือกระจุกใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่กึ่งเป็นวงรอบคล้ายกระจุกมี ๔-๖ ใบ ตามปลายกิ่ง รูปรีแกมรูปใบหอก ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบและตามกิ่ง ดอกสีขาวอมเขียวอ่อน ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรี ปลายผลเป็นติ่งแหลมอ่อน มีฐานดอกเป็นรูปถ้วยตื้นติดทนที่โคนผล เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม มี ๑ เมล็ด

ตองลาดสิกขิมเป็นไม้ต้น สูง ๖-๒๐ ม. กิ่งเล็ก ต้นอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีขาวอมเหลืองอ่อน เปลือกต้นแตกเป็นแผ่น สีเทาถึงสีน้ำตาล เปลือกในสีน้ำตาลอมเหลืองอ่อน ตายอดมีเกล็ดคล้ายใบหุ้มซ้อนเหลื่อม รูปใบหอกกลับแกมรูปทรงรี ยาว ๐.๘-๑ ซม. มีขนคล้ายเส้นไหม เมื่อเกล็ดร่วงมีรอยแผลเหนือกระจุกใบ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่กึ่งเป็นวงรอบคล้ายกระจุก มี ๔-๖ ใบ ตามปลายกิ่ง รูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๑๐-๑๔ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเป็นมัน ใบอ่อนมีขนคล้ายเส้นไหม ใบแก่เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างอาจมีขนประปราย มีนวล เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง มีขนประปรายทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๒ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ นูนเด่นชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบย่อยแบบขั้นบันไดแกมร่างแห เห็นค่อนข้างชัดทางด้านบน เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบเล็ก ยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขนประปราย

 ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๖-๑.๒ ซม. ออกตามซอกใบและตามกิ่ง ใบประดับร่วงง่าย มีรอยแผลที่โคนช่อดอก ดอกสีขาวอมเขียวอ่อน กลีบรวมโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกบาง ๖ แฉก เรียงซ้อนเหลื่อม แฉกชั้นนอกใหญ่กว่าแฉกชั้นในเล็กน้อย เกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น แฉกชั้นในเกลี้ยง ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาวประมาณ ๓ มม. มีขนคล้ายเส้นไหม แฉกกลีบรวมรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง ๑-๑.๒ มม. ยาวประมาณ ๓.๒ มม. ด้านในเกลี้ยง ด้านนอกมีขนคล้ายเส้นไหม มีเกสรเพศผู้ ๙ เกสร อาจพบได้ถึง ๑๐ เกสร เรียงเป็น ๓ วง เกสรวงนอกและเกสรวงกลางไร้ต่อม ส่วนเกสรวงในมีต่อมแบบมีก้านที่โคนก้านชูอับเรณูข้างละ ๑ ต่อม ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๔ มม. มีขนอุย อับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแหลม อับเรณูแตกแบบฝาเปิดทางด้านเดียวกัน มี ๔ ช่อง แยกเป็นด้านบน ๒ ช่อง ด้านล่าง ๒ ช่อง หันเข้า ดอกเพศเมีย มีก้านดอกยาวประมาณ ๓ มม. มีขนคล้ายเส้นไหม แฉกกลีบรวมรูปขอบขนานหรือรูปรี กว้าง ๑-๑.๒ มม. ยาวประมาณ ๓.๒ มม. ด้านในเกลี้ยง ด้านนอกมีขนกำมะหยี่ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมี ๙ เกสร พบบ้างที่มีได้ถึง ๑๐ เกสร ยาวประมาณ ๒ มม. เกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยง มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๐.๕-๑ มม. เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียแบบก้นปิด

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ออกเป็นช่อ แต่ละช่อมีได้ถึง ๕ ผล รูปทรงรี เส้นผ่านศูนย์กลาง ๗-๘ ซม. ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีแดง เมื่อแห้งสีดำ ปลายเป็นติ่งแหลมอ่อน มีฐานดอกเป็นรูปถ้วยตื้นติดทนที่โคนผล เส้นผ่านศูนย์กลาง ๗-๘ มม. เกลี้ยงก้านผลใหญ่ ยาว ๐.๗-๑ ซม. มีขนประปราย เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม มี ๑ เมล็ด

 ตองลาดสิกขิมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑,๐๐๐-๑,๔๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม เป็นผลเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย (สิกขิม) ภูฏาน บังกลาเทศ และเมียนมา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตองลาดสิกขิม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Actinodaphne sikkimensis Meisn.
ชื่อสกุล
Actinodaphne
คำระบุชนิด
sikkimensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Meisner, Carl Daniel Friedrich
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1800-1874)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต